วานิช สุนทรนนท์ 10ปีฅนตรัง

 

"สื่อโซเชี่ยลมีผลกระทบต่อการทำหนังสือพิมพ์ เพราะกระบวนการผลิตข่าวผ่านระบบออนไลน์ เหตุการณ์เกิดปุ๊บ ไม่กี่นาทีก็สามารถหาอ่านผ่านสื่อประเภทนี้ได้ ต่างจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ จะต้องใช้เวลาในการเตรียมการ และต้นทุนที่สูงกว่า สำหรับหนังสือพิมพ์ฅนตรัง จะมีทางออกของปัญหานี้ด้วยการนำเสนอเนื้อหาสาระที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากที่อื่นๆ"

 

 

วานิช สุนทรนนท์ 10ปี หนังสือพิมพ์ฅนตรัง

 

สัมภาษณ์พิเศษ : วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง

สัมภาษณ์โดย : นางสาวพิชญากรณ์ ใจจ้อง นักเรียนชั้น ม.5  โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง เป็นส่วนหนึ่งประกอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย

 

 

"สื่อโซเชี่ยลมีผลกระทบต่อการทำหนังสือพิมพ์ เพราะกระบวนการผลิตข่าวผ่านระบบออนไลน์ เหตุการณ์เกิดปุ๊บ ไม่กี่นาทีก็สามารถหาอ่านผ่านสื่อประเภทนี้ได้ ต่างจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ จะต้องใช้เวลาในการเตรียมการ และต้นทุนที่สูงกว่า สำหรับหนังสือพิมพ์ฅนตรัง จะมีทางออกของปัญหานี้ด้วยการนำเสนอเนื้อหาสาระที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากที่อื่นๆ"

 

 

@ภูมิลำเนาเดิม

 

วานิช สุนทรนนท์ : เป็นคนตรังโดยกำเนิดครับ เกิดที่ตำบลท่าพญา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี 2499

 

@เรียนจบคณะอะไร มหาวิทยาลัยอะไร

 

วานิช สุนทรนนท์ : เรียนจบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 

@งานอดิเรกคืออะไร

 

วานิช สุนทรนนท์ : เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แต่หลายปีมานี้หันมาเล่นเฟซบุ๊กมากกว่า ในเฟซบุ๊กมีทั้งด้านดีและด้านเสีย ถ้าเรานำเสนอสิ่งดีๆ เช่น ความคิด ความเชื่อ เรื่องราวดีๆ ภาพถ่ายสวยๆ เราจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้นมาในชีวิตอีกจำนวนมากครับ

 

 

@ทัศนะคติในการใช้ชีวิต

 

วานิช สุนทรนนท์ : ผมคิดว่าทัศนคติ หรือมุมมองต่อการใช้ชีวิตมันจะเปลี่ยนไปตามอายุนะครับ สมัยหนุ่มๆ ผมมีความคิดใหญ่ๆ ถึงขั้นจะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบให้ดีขึ้นในทุกด้าน อยากช่วยเหลือคนทั้งโลก แต่พอเราโตขึ้น เราจะเข้าใจว่าต้องอยู่บนความเป็นจริง ทำเท่าที่ทำได้ ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังที่เรามี ยิ่งช่วงที่กำลังย่างเข้าสู่วัยชรา คิดได้ว่า 'สุขใด... จะเท่าสุขภาพดี' คือ ไม่ว่าความสุขใดๆ ไม่สามารถเทียบกับสุขภาพที่ดีได้ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ เป็นความสุขแล้ว

 

@การเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ มีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

 

วานิช สุนทรนนท์ : เดือนนี้มกราคม 2559 ผมทำหนังสือพิมพ์มาครบ 10 ปีพอดี หนังสือพิมพ์ฅนตรังก่อนนี้เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ หรือราย 15 วัน แต่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับเปลี่ยนเป็นรายเดือน โดยเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ฅนตรังจะนำเสนอบทความ บทรายงาน บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์บุคคล ด้านการเมือง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ มากกว่าการนำเสนอเป็นข่าวโดยตรงเหมือนฉบับอื่นๆ โดยได้วางหลักการไว้ว่า 'ความตั้งใจที่แตกต่าง เวทีทางความคิดของคนตรัง' พูดถึงความสำเร็จ ในด้านการยอมรับของผู้อ่านของสังคม หนังสือพิมพ์ฅนตรังได้รับการยอมรับค่อนข้างสูงว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี มีเนื้อหาสาระดี มีอุดมคติ แต่ถ้ามองในเชิงธุรกิจ เราค่อนข้างจะล้มเหลว เพราะรายได้ไม่ว่าจะเกิดจากการจำหน่ายและค่าโฆษณาไม่พอกับรายจ่ายครับ

 

@ทำไมถึงประกอบอาชีพนี้

 

วานิช สุนทรนนท์ : ก่อนจะตัดสินใจทำงานเป็นคนทำหนังสือพิมพ์ ผมเคยทำงานการเมืองท้องถิ่นมา 22 ปี เมื่อไปต่อทางการเมืองไม่ได้ด้วยสาเหตุการแข่งขันที่ค่อนข้างจะรุนแรง จึงต้องคิดว่า เราจะทำอะไรต่อไปที่เป็นประโยชน์กับสังคมและผู้คนได้ด้วย กอปรกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหนังสือ จึงคิดว่า การทำหนังสือพิมพ์น่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสม

 

 

@คิดว่าอาชีพที่ทำอยู่ ให้ประโยชน์ต่อสังคมยังไงบ้าง

 

วานิช สุนทรนนท์ : คำถามนี้ ถ้าถามคนทำหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น หรือสื่อมวลชนคนอื่นๆ เขาคงจะตอบว่า การทำงานด้านนี้เพื่อจะได้เป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านชาวช่องที่ทุกข์ยากหรือเดือดร้อนจากเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดี แต่หนังสือพิมพ์ฅนตรังไม่ได้คิดเพียงแค่นั้น เราคิดถึงการเป็นเวที เป็นสื่อกลางที่จะร่วมแบ่งปันความคิดดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม และที่สำคัญ สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบแทนสังคมด้วย ผมหมายถึง หากมีเครื่องหมายคำถามใดๆ ต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคม เราไม่ควรนิ่งเฉย แต่ต้องเป็นตัวแทนสังคมไปหาคำตอบนั้นๆมาให้ได้

 

@มีความสุขในงานที่ทำปัจจุบันไหม

 

วานิช สุนทรนนท์ : มีนะครับ เป็นธรรมดาที่จะมีความสุขกับการทำงาน ถ้าไม่มีคนเราต้องรีบเปลี่ยนงานล่ะนะ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงมันก็มีทั้งสุขและทุกข์ คือมีปัญหาที่ต้องแก้ไขไปด้วยตลอดเวลา

 

@อาชีพที่ทำอยู่ในตอนนี้มาจากความฝันในวัยเด็กรึเปล่า

 

วานิช สุนทรนนท์ : เป็นความฝันไหม... ความจริงไม่ถึงกับตั้งใจมาตั้งแต่เด็กๆ หรอกนะครับ แต่สมัยที่เป็นประธานนักศึกษาที่ปัตตานี หรือแม้แต่สมัยที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่ย่านตาขาว ผมคิดว่า การประชาสัมพันธ์เป็นการสร้างความเข้าใจที่ดีให้กับสังคม จึงได้ออกวารสาร หรือหนังสือพิมพ์ภายในตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อ 10 ปีที่แล้วจึงเข้ามาทำแบบเต็มตัวมากขึ้น

 

 

@คิดว่าสื่อโซเชี่ยลต่างๆ ในปัจจุบัน มีอิทธิพลต่อการประกอบอาชีพไหม

 

วานิช สุนทรนนท์ : สื่อโซเชี่ยลมีผลกระทบต่อการทำหนังสือพิมพ์โดยทั่วไปทั้งหนังสือพิมพ์ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นค่อนข้างสูง เพราะกระบวนการผลิตข่าวผ่านระบบออนไลน์สะดวกสบายแค่ถ่ายภาพ เขียนข่าว เหตุการณ์เกิดปุ๊บ ไม่กี่นาทีก็สามารถหาอ่านผ่านสื่อประเภทนี้ได้ ต่างจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ จะต้องใช้เวลาในการเตรียมการ และต้นทุนที่สูงกว่า สำหรับหนังสือพิมพ์ฅนตรังจะมีทางออกของปัญหานี้ด้วยการนำเสนอเนื้อหาสาระที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ หรือสิ่งตีพิมพ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังสือพิมพ์วางแผง เราก็จะนำเนื้อหาทั้งหมดมานำเสนอผ่านเฟซบุ๊กอีกทีหนึ่งครับ

 

@นอกจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีอาชีพอื่นที่อยากทำอีกไหม

 

วานิช สุนทรนนท์ : ทุกวันนี้ นอกจากเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ก็มีอาชีพเกษตรกรรม คือเป็นเจ้าของสวนยางรายย่อยที่มีพื้นที่ไม่กี่ไร่ แต่ก็พอเป็นค่ากับข้าว ค่ากาแฟได้ ซึ่งพอจะอยู่ได้โดยไม่ต้องลำบากมากนัก สำหรับอาชีพใหม่ วัยใกล้จะ 60 แล้วก็ไม่ค่อยจะคิดถึงสักเท่าไหร่ครับ แค่พอเพียง มีกิน มีใช้ ไม่เป็นหนี้สิน ก็เป็นความสุขแล้ว

 

@มีแพลนว่าจะทำอะไรในอนาคตไหม ถ้ามี คืออะไร

 

วานิช สุนทรนนท์ : เขียนหนังสือ ทำหนังสือรวบรวมงานเขียนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ จริงอยู่ในชีวิตการเขียนหนังสือได้รวมเล่มมาแล้ว 3 เล่ม แต่ยังมีงานเขียนกระจัดกระจายอีกจำนวนมากที่อยากจะพิมพ์เผยแพร่ นอกจากงานเขียนแล้ว ยังคิดถึงการรวมเล่มภาพถ่าย ด้วยการเขียนคำบรรยายสั้นๆ ประกอบภาพที่ถ่ายมาจากหลายที่และคิดว่าน่าจะคัดมาอวดได้จำนวนหนึ่ง

 

@ทำไมจึงชอบถ่ายภาพ

 

วานิช สุนทรนนท์ : นั่นสิครับ เป็นคำถามที่ดีนะ บางทีที่ผ่านมาผมก็ลืมคิดถึงเรื่องนี้ ทำไมจึงชอบถ่ายภาพ... ความจริงผมชอบถ่ายภาพมานานแล้ว แต่ก่อนนี้การจะถ่ายภาพต้องลงทุนค่อนข้างสูง ทั้งค่ากล้อง ค่าฟิล์ม รวมทั้งค่าล้าง ค่าอัดภาพ สมัยดิจิตอลนี้ มีแต่ค่ากล้องอย่างเดียว จึงง่ายที่จะถ่ายภาพมากขึ้น การถ่ายภาพแล้วนำผลงานมานั่งดูจะมีความสุข วันไหนถ่ายได้ไม่ดีก็คิดว่า พรุ่งนี้จะลองใหม่ ยิ่งสมัยนี้มีการเผยแพร่ หรืออวดภาพถ่ายกันง่ายขึ้นในยุคสื่อออนไลน์ ก็จะยิ่งมีความสุขเมื่อโพสต์ภาพในเฟซบุ๊กแล้วมีคนเข้ามาไลค์ มาเม้นต์ เยอะๆ แต่ประเด็นนี้ต้องระวังการหลงตัวเองด้วยนะครับ

 

 

@มีความเห็นยังไงกับวิถี slow life

 

วานิช สุนทรนนท์ : เป็นเรื่องที่หลายคนพูดถึงกันมาระยะเวลาหนึ่ง ผมเองไม่เข้าใจทั้งหมดถึงความหมายของคำๆ นี้ แต่พอจะเดาได้ว่า น่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบจนเกินไป ทั้งการสร้างตัว สร้างฐานะ ทั้งการดำรงชีวิตในแต่ละวันที่ช้าลง ‘เป็น อยู่ คือ’ อย่างมีสติ รู้ทัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่หลงทางไปกับเทรนด์ใหม่ๆ อย่างไร้ความคิด ซึมซับความงดงามของธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม สโลว์ ไลฟ์ ไม่ใช่วันๆ เอาแต่กินแต่นอน กินกาแฟ อ่านหนังสือ ไม่ทำงาน ขี้เกียจเรียนหนังสือ ไม่ใช่แบบนั้นแน่นอนครับ

 

 

ตัวอย่างภาพหนังสือพิมพ์ฅนตรัง นำเสนอมุมมอง "ความตั้งใจที่แตกต่าง เวทีทางความคิดของคนตรัง"

 

 

 

 

วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง กับ นางสาวพิชญากรณ์ ใจจ้อง นักเรียนชั้น ม.5  โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ผู้สัมภาษณ์

 

 

 

ติดตามหนังสือพิมพ์ฅนตรังได้ที่ หนังสือพิมพ์ฅนตรัง

..........................