เมื่อ “สถาพร ศรีสัจจัง” ตอบ “ที่เธอถาม”

 

เมื่อมีเรื่องแล้วอยากจะเป็นนักเขียนมีวิธีเดียว หาสมุดมาเล่มหนึ่ง แล้วลงมือเขียนเลย 

 

 

 

เมื่อ “สถาพร ศรีสัจจัง” ตอบ “ที่เธอถาม”

เรื่อง/ภาพ : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

......................

หมายเหตุ-ส่วนหนึ่งของคำบรรยายโดย อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง หรือนามปากกา พนม นันทพฤษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2548 ชาวตรัง บนเวทีเสนา “เส้นทางสู่นักเขียน” โครงการพัฒนาหอสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต “เปิดการอ่าน สร้างลานศิลป์ พบศิลปินถิ่นใต้” ณ ห้องประชุม หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 โดยก่อนเริ่มเสวนา อาจารย์สถาพรได้อ่านบทกวี และชวนผู้ฟังเสวนาร่วมสงบนิ่ง เพื่อระลึกถึง อาจารย์เปลื้อง คงแก้ว หรือ เทือก บรรทัด กวี นักเขียน และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนคนสำคัญของเมืองตรังอีกด้วย

......................

 

 

“เป็นเรื่องแปลกที่ส่วนใหญ่ผมจะไม่ค่อยได้รับเชิญให้ไปพูดในพื้นที่ภาคใต้มากนัก มาวันนี้ผมจึงมีความยินดีมาก ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ ต่อมาบ้ายมาเรียนโรงเรียนสภาราชินี ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิตในเรื่องการอ่านการเขียน การตอบคำถามว่าชีวิตการเขียนมันเริ่มที่ตรงไหน ขอย้อนเล่ากลับไปว่า ผมเป็นรุ่นแรกของนักเรียนจากอำเภอกันตัง ที่มาสอบเข้าโรงเรียนวิเชียรมาตุได้ ตอนนั้นผมมาเรียนที่วิเชียรมาตุ ผมก็ชกมวยไปด้วย แต่ไม่ได้ชกมวยแบบนักกีฬา เราชกเพราะเกเร ถือว่าอยู่กลุ่มเด็กเกเร”

 

“สมัยก่อนผมหนีโรงเรียน มีจักรยานอยู่คันหนึ่งก็ปั่นจากวิเชียรมาตุมาเที่ยวกระพังสุรินทร์ ได้เจอนักมวยเก่าคนหนึ่งเคยชกเวทีราชดำเนิน เหมือนแกหมดอายุมวย กลับมาเป็นคนเฝ้ากระพังสุรินทร์ แกก็ชวนผมหัดมวย ผมได้ชกครั้งแรกที่นาโยง ได้เงินมา 25 บาท แต่เจ็บชิบหายเลย ที่เล่ามาอยากจะบอกว่า เรื่องการเขียนหรือการเป็นนักเขียน พื้นเพของแต่ละคนอาจต่างกัน หลังจากผมกลับมาอยู่ที่ใต้ผมมาสอนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ต้องสอนวิขาการเขียน ประโยคแรกที่บอกเด็กนักศึกษามาจนทุกวันนี้ คือ วิชานี้เป็นวิชาที่สอนกันไม่ได้ แต่เป็นวิชาที่เรียนรู้ร่วมกันได้ เราทำบรรยากาศให้สนุกได้”

 

“ผมคิดว่าการเป็นนักเขียนมันต้องมีธรรมชาติของการเป็นนักเล่าเรื่อง ส่วนการมีเครื่องมือและวิธีการคือสิ่งที่จะตามมา จากประสบการการณ์การเป็นครูสอนวิชาการเขียน ผมพบว่าสิ่งที่ครูจะเริ่มต้นให้ลูกศิษย์ได้ คือ การเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนผู้กระตุ้น โน้มน้าว”

 

“จริงๆแล้วเรื่องการเขียนมันเป็นเรื่องทักษะ แต่เบื้องหลังของการเขียนมีคนถามผมบ่อยว่า มีแรงบันดาลใจอะไรในการเขียน ผมคิดว่ามีสิ่งแวดล้อมยุ 2-3 ประการ คือ ผมชอบภาษาไทย ตอนเด็กผมอยู่กับย่า ซึ่งย่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ย่าจำเพลงกล่อมเด็กได้ ผมไม่รู้ว่าจังหวะเสียงเพลงกล่อมเด็กของย่ามันอยู่ในหัวผมตั้งแต่เมื่อไหร่ เมื่อมาเรียนที่วิเชียรมาตุ ผมนึกถึงหน้าครูประสิทธิ์ สุทธินนท์ ครูประจำชั้น มศ.2 สมัยผมเรียนมีแต่เด็กผู้ชาย ผมจำภาพแรกได้ว่า เด็กในห้องมันเกเรมาก มันกำลังไล่เตะกันในห้อง แต่มีเสียงครูตวาดเข้ามาเป็นกลอนเลย ผมจำได้บางวรรค "ประจำที่...มีระเบียบและเรียบร้อย...อย่าให้ด้อย...ความประพฤติ...ฝึกนิสัย... แล้วมาจบที่ ...ระวังภัย คือสอบตก อกแตกตาย!!!" ครูประสิทธิ์เป็นคนจุดประกาย ท่านเป็นคนนาโยง ตัวอ้วนๆ ท่านเป็นครูแบบไทยโบราณแบบประมาณสอนเสร็จเรียกไอ้ช็อล์กมันเป็นเพื่อนผม ให้ไอ้ชอล์กมานวดครูซิ”

 

“ในสมัยผมเรียนมีการเรียนถอนกลอน ถอดจากร้อยกรอง ให้ถอดความมาเป็นร้อยแก้ว ไอ้ชอล์กมันขี้เกียจ มันนอนทุกวิชา  วันหนึ่งครูว่าไอ้ชอล์กถอดโคลงนี้ซิ ถอดนิราศนรินทร์ มีวรรคหนึ่งว่า "ธรรมมาส ศาลา ลาน พระแผ้ว" ไอ้ชอล์กมันก็ถอดความมาทีละวรรค ถูกหมด พอถึงคำว่า “พระแผ้ว” มันถอดว่า "พ่อท่านแผ้ว" แล้วแปรงลบกระดานก็ลอยมา หัวเราะกันใหญ่

 

“เมื่อผมมาเรียนมัธยมปลายที่สภาราชินี ผมอยู่ห้องปลายแถว ตอนนั้นเด็กผู้ชายมีน้อยมาก สาเหตุที่ผมไปเรียนสภาราชินีเพราะผมถูกไล่ออกจากวิเชียรมาตุ เพราะเกเร ผมโดนไล่ออกพร้อมกับเด็กที่เรียนเก่งที่สุดในจังหวัดตรังตอนนั้น คือ สุประวัติ ใจสมุทร มันเป็นเพื่อนผม มันสอบได้ที่ 1 ของภาคใต้ ต้องถือว่าผมเป็นเด็กเกเรที่ฟอร์มดีมากๆ คือชอบเดินกับเด็กเก่งตลอด อยู่วิเชียรมาตุผมเดินกับสุประวัติตลอด อาจารย์อมร สาครินทร์ บอกว่าเธอเรียนดีนะ แต่ทำไมเธอเกเร พอจบ มศ.3 ผมกับสุประวัติหารือกัน เราสองคนถูกเพ่งเล็ง สุประวัติมันเรียนดี แต่มีครั้งหนึ่งมันไปรับรางวัลจากผู้ว่าฯแล้วมันลืมสวัสดีผู้ว่าฯมันก็เลยโดนไปด้วย สุดท้ายเราสองคนก็ตกลงกัน สุประวัติมันก็ชวนผมมาเรียนสภา”

 

 

“วันแรกสุดที่เข้าสภาราชินีผมจำได้ เราเป็นคนชอบสนุกและตลก ก็เข้าห้องส้วม กำลังยืนฉี่ ฝาเป็นไม้กระดาน มีเด็กเขียนฝา ลายมือสวยมาก ลงชื่อคนเขียนไว้เลยว่า “ดาว โยงยาง” และเป็นชื่อจริง ผมมารู้จักมันทีหลัง ชื่อเดิมมันชื่อ “หลาว แซ่พัว” เป็นเด็กวัดต้นตอ(วัดตันตยาภิรม) มันเขียนบทสักวาที่ฝาห้องน้ำที่ผมจำมาได้จนปัจจุบัน ตอนนั้นที่เห็นผมมีความคิดเลยว่า ถ้ากลอนเขียนแบบนี้ กูก็น่าจะเขียนได้วะ!”

 

"กลอนข้างฝามันเขียนว่า ...สักวาคาเยี่ยวให้เสียวซ่าน...ไข่สะท้าน เล็กน้อย หรอยจังหู...พอเยี่ยวเสร็จ สมหวัง ยังก้มดู...เห็นคู้ๆงอๆก็เก็บไว้...ค่อยรูดซิบ กลัดกระดุม คุมเชิงท่า...เดินออกมา สดใส สมใจหมาย...เห็นเพื่อนจ้อง มองดู รู้เชิงชาย...โอ้น่าอาย สายธารา เปื้อนผ้าเอย"

 

“ตอนนั้นอ่านรอบแรกมันจำได้เลย ผมจึงคิดว่าถ้ามันเขียนกลอนแบบนี้ กูก็น่าจะเขียนได้ จากนั้นผมก็เขียนกลอนสนุกล้อเพื่อนเรื่อยมา ผมจึงประมวลว่า ถ้าจะให้ผู้ตัวเราก้าวเข้าสู่เส้นทางการเล่าเรื่อง ต้องเริ่มที่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อก่อน คนว่าทำไมผมเขียนกวีนิพนธ์มากในตอนหลัง เพราะผมพบว่ามันเป็นเครื่องมือแทนสิ่งที่ผมอยากเล่าได้ตรงที่สุด ในอดีตเรามีความอยากมีชื่อเสียง ความอยากขายได้ เขียนกวีมันขายยาก ขณะที่เรื่องสั้น นวนิยาย มันขายได้ แต่เส้นทางในการเลือกใช้เครื่องมือเราต้องมีการคุยกันละเอียดว่า"

 

"เราต้องการเขียนหนังสือเพื่ออะไร เราเขียนเพื่อเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อย สร้างสุข หรือ เขียนเพื่อเป็นอาชีพ ต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน แล้วเราจะรู้ว่าเราจะเขียนอย่างไร”

 

 

“นี่คือการถอดบทเรียนของคนเล็กๆคนหนึ่งที่มาเล่า หลายครั้งสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็น ถ้าเราต้องการสร้างให้เห็นว่า การเขียนหรือการอ่านมีคุณต่อคน เราต้องมีครู มีโรงเรียน ที่ตระหนังถึงความสำคัญ สร้างให้เด็กรู้ว่าการอ่านเขียนมีความสำคัญ”

 

@ช่วงถามตอบ ผู้ฟังเสวนาถามถึงที่มาของเพลง “สถาพร” ของ “พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” ที่เหมือนกับเอาตัวของอาจารย์สถาพรมาแต่งเป็นเพลง

 

อาจารย์สถาพรตอบ :  “เพลง “สถาพร” ของคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ตอนเพลงนี้ออกมาคุณพงษ์เทพตกใจมาก กลัวว่านักเขียนหนุ่มปักษ์ใต้จะไปรุมสกรัม เพราะมีนักเขียนหนุ่มปักษ์ใต้นำโดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ไม่พอใจ รับไม่ได้ว่าเอาชื่อนักเขียนผู้ใหญ่ภาคใต้ไปแต่งเพลงเป็นตัวตลก ผมบอกกนกพงศ์ ว่า อย่าคิดมาก มันทำมาหาแดกมัน และเหตุที่เกิดเพลงนี้ผมก็อยู่ด้วย ผมก็บอกพงษ์เทพมันเอง มันมีสร้อยเพลงเก่าที่เป็นเพลงโคราชอยู่แล้วผมได้ฟัง ผมก็บอกพงษ์เทพว่า นายเอาสร้อยเพลงนี้มาแต่งสิ มันน่าสนใจมากนะ ที่บอก..จอกหนึ่ง..จอกสอง แล้วมันก็เอาไปแต่งจริง แต่ตอนแต่งมันนึกเรื่องไม่ออก แต่มันต้องสร้างสตอรี่ มันก็ว่าเอาไอ้บ้านี่แหละ สถาพร”

 

“พงษ์เทพมันเป็นเพื่อนรุ่นน้องสนิทพอสมควร ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งที่อาจมีส่วนทำให้พงษ์เทพมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองน่าจะเป็นศิลปินได้ หลังจากออกจากป่ามา ผมมักถามเพื่อนๆว่า มึงเข้าป่าได้อะไรกลับมาบ้าง ผมถาม ทองกราน ทานา มือกีตาร์คาราวาน มันบอกว่าผมเล่นกีตาร์มือขวาได้ มีอยู่คืนหนึ่งพรรคพวกเพื่อผมเลี้ยงรับพงษ์เทพออกจากป่าที่บ้านในกรุงเทพฯ ผมเลยถามมันว่าเข้าป่า 4-5 ปี ได้อะไรมาบ้าง มันขอกีตาร์ ผมก็ตกใจเพราะก่อนนั้นมันเล่นกีตาร์ไม่เป็น มันพูดเหน่อๆแบบโคราช ว่า ฉันจิร้องเพลงให้แกฟัง แล้วเพลงที่มันร้องในคืนนั้น คือ “เพลงนกเขาไฟ” ทุกคนเงียบกันหมด ผมก็ชี้หนัามัน เอ้ย! มึงเป็นกวีแล้ว มึงไม่ต้องไปร้องกับหงา คาราวาน แล้วทำเพลงออกอัลบัมเลย จากนั้นเพลงห้วยแถลงก็ออกมา ที่จริงผมมีส่วนในการเขียนเพลงให้เขาหลายเพลง อย่างเช่น เพลงตรงเส้นของฟ้า”

 

@ผู้ฟังเสวนาถามว่าปัจจุบันสื่อรูปแบบใหม่โดยเฉพาะสื่อออนไลน์รุกคืบเข้ามาทดแทนงานเขียนและงานพิมพ์บนกระดาษ มองอย่างไร

 

อาจารย์สถาพรตอบ :  “อย่าไปห่วงมัน ผมไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น เมื่อเราพูดถึงปรากฎการณ์สื่อสมัยใหม่เข้ามาแทนที่อย่างมีเหตุมีผล  แต่ไม่ว่าเครื่องมือใดที่เกิดเพื่อการขายในโลกทุนนิยม เรื่องกวีนิพนหรือการเขียนที่คิดว่าล้าหลังแล้วจะมีตัวอื่นมาแทนที่ ขอให้เชื่อว่า มันจะมีทางออก เพราะมนุษย์ไม่โง่ และจะเลือกถูก ผมไม่เชื่อว่าโลกดิจิตอล มันไปถึงการทำให้เด็กไทยคิดเหมือนเด็กนิวยอร์ก รวมทั้งการใช้ชีวิต การกิน แต่ที่เราเป็นลูกไล่เขาตลอด เพราะเขาต้องการให้เราเป็นเหยื่อ เป็นสินค้า ผมไม่อยากให้เชื่อว่า โลกนี้เรื่องมูลค่าสำคัญกว่าคุณค่า วันนี้คนไม่ตั้งคำถามว่ามีคุณค่าไหม แต่ถามว่ามีมูลค่าไหม คือ มันเป็นสินค้าได้ไหม”

 

“ลูกศิษย์ถามผมมาตลอด 30 ปี สิ่งที่เขาต้องการและถามเสมอ คือ สูตรสำเร็จ ผมมักจะตอบเสมอ ว่า มันไม่มีสูตรสำเร็จ ผมจะตอบว่าต้องคิดแบบ แฮเนส เฮมมิ่งเวย์ มี 2 วีธี คือ ถามตัวเองว่าชอบเรื่องไหน แบบไหนที่สุด ให้เขียนแบบนั้นแต่เขียนให้ดีกว่า เด็กตอบว่าตาย!อย่างนี้ ผมก็บอกว่า ถ้าไม่เขียนแบบนั้นก็ให้เขียนเรื่องของมึง เขียนแบบมึง แล้วทุกคนก็ทำได้หมด เด็กจะบอกว่าแล้วเรื่องของผมจะเอามาเขียนได้เหรอ ผมก็จะบอกว่า แล้วมึงอยากฟังเรื่องของกูไหม?”

 

“ดังนั้น ถ้าเรามีวิธี มีเรื่องของเราเอง เราจะทำได้ ถ้าอยากจะเป็นนักเขียน มีวิธีเดียว หาสมุดมาเล่มหนึ่ง แล้วลงมือเขียนเลย ผมเชื่อว่าของที่มีคุณค่าจริงๆจะไม่มีทางหายไปจากโลก ไม่มีใครจะทำให้ดอกหญ้าเล็กๆเพียงดอกในหุบเขาหายไป และใครจะห้ามดอกไม้บานได้บ้าง ไม่มีหรอก”

 

“ปีนี้มีศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่เขียนสารคดี เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่กรรมการ  ปีก่อนๆการตัดสินมักเลือกแต่งานแต่ง แต่วันนี้เป็นการเปิดกว้าง เปิดพื้นที่ ซึ่งเป็นการตอบคำถามในเรื่อง Creative Writing คือ งานเขียนเชิงสร้างสรรค์ งานสารคดีที่มีข้อเท็จจริงมากกว่าการแต่ง”

 

 

“ผมขอจบด้วยบทกวีบทนี้ แทนคำตอบ เป็นที่มาของเมื่อครั้งหนึ่งที่ผมกลับมาทำงานที่สงขลาเมื่อพ.ศ.2525 ผมถูกชักชวนมาทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ตอนั้นผมต้องลงมาเพราะเมียท้อง แต่ผมไม่รู้จะกลับมาทำอะไร แล้วสิ่งที่ผมไม่เคยคาดคิดเลยคือการเป็นข้าราชการ มีวันหนึ่งผมไปงานที่โรงแรมสมิหลา เป็นงานหาทุนช่วยโรงเรียน ภาพแรกในงานผมเห็นภาพนายทหารกำลังรุมเกี้ยวหญิงสาวคนหนึ่ง เป็นภาพโทนสีรุนแรงแวบออกมาแรงมาก ผมนึกออกว่าเด็กสาวคนนี้เป็นดาวมหาลัยทักษิณ เธอเรียนจบเกียรตินิยมอันดับ 1 แล้วเป็นตัวแทนถวายช่อดอกไม้เวลาเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเสด็จฯทุกครั้ง”

 

“ผมก็ไม่สนใจอะไร ฉวยซอฟดริงค์แก้วนึง แล้วลงไปนั่งที่ม้าหินริมหาดมองทะเล ตอนนั้นแสงเย็นกำลังสวย สักแป๊บหนึ่งมีเสียงเดินมา แวบไปเห็นเป็นหญิงสาวคนนั้น ผมตกใจมาก เธอนั่งนิ่ง ต่างคนต่างนั่งมองไปยังทะเล สักพักหนึ่งมีเสียงเปรยว่า พี่คะๆ พี่ว่าเส้นขอบฟ้ามีเจ้าของมั๊ย? ผมนี่ใจหายวาบเลย ใจตกลงไปตาตุ่มเลย ผมนิ่งตอบอะไรไม่ได้เลย นั่งกันสักพักต่างก็คนต่างลุก ผมกลับมาบ้าน สำหรับเธอคงจบ แต่ผมไม่จบ คำถามของเธอมันก้องอยู่ในหูผม ว่า เส้นขอบฟ้ามีเจ้าของไหม วันรุ่งขึ้นผมกลับมานั่งที่เดิมอีกครั้งแล้วเขียนบทกวี ชื่อ “ที่เธอถาม”..

 

และทะเลยังคงคลี่คลื่นเคลื่อน

โยนเม็ดน้ำด่างเปื้อนให้แดดเผา

ลมบ่ายระบายบ่ายมาบางเบา

และแดดบ่ายแต่งเงาให้หาดงาม

 

ฟ้าสูงยาวใส-สีฟ้าสวย

คลี่ห่มผืนผวยสีหวานหวาม

แก่วงแววตาที่ทอดตาม

ไปตั้งคำถามให้ตอบคำ

 

ม่วง-ดอกผักบุ้งทะเลนั้น

คลี่กลีบยืนยันรอยแดดย่ำ

คลี่กลีบบานใบเบิกระบำ

รับการกระทำโดยแดดทาม

 

สุดสายตาเพิ่งไปเบื้องหน้า

คือเส้นขอบฟ้าที่เธอถาม

บัดนี้ถักแถบเป็นริ้วงาม

คลุมความลับไว้เช่นวันวาน

 

นั่งนิ่ง,นั่งนิ่ง - เพ่งภาพนั้น

ความคิดตีบตันไปทุกด้าน

นานนัก-เพ่งนิ่งอยู่เนิ่นนาน

เวิ้งน้ำทุกด้านก็เปล่าดาย

 

ไม่มีคำตอบที่เธอถาม

ไม่มีนิยามให้ยึดได้

เห็นเพียงขอบฟ้านั้นแรฟาย

แต่งเพิ่มเติมสายสีป่านทองฯ

 

เธอถามฉันว่า-ขอบฟ้านั้น

มีผู้ใดกันเป็นเจ้าของ

มีผู้ใดหรือได้ถือครอง

มีใครจับจองเป็นเจ้าแดนฯ

 

ง่ายง่ายซื่อใส-ในคำถาม

หากลึก-ด้วยความที่หนักแน่น

เนื้อแห่งคำถามคล้ายถามแทน

สังคมแบบแผนปัจจุบัน

 

น้ำเสียงเปลี่ยวเศร้าและสงสัย

แปลกหน้ากระไรได้ปานนั้น

เหมือนมีชีวิตอยู่วันวัน

ในบ่วงแร้วอันไร้ตัวตน

 

กับความสดใสแห่งวัยสาว

ใครแต้มตาวาวให้ดูหม่น

ใครเปลี่ยนแววหวัง-เป็นกังวล

ใครแต้มทุกข์ทนให้แก่เธอฯ

 

ใครบ้าง-รู้กฎการเคลื่อนคลื่น

ที่ริกริกตื่นอยู่เสมอ

ใครหรือที่คล้ายจะได้เจอ

คำตอบเสนอคำถามนั้น

 

หรือเส้นขอบฟ้ามีเจ้าของ

มีผู้ถือครองดั่งเธอหวั่น

หรือเธอเพียงถามเพราะรู้ทัน

แร้วบ่วงปัจจุบัน-ของสังคม..

 

 

 

....................................................................................................................................................

 

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

....................................................................................................................................................