จีเหลี่ยน BIKERแห่งทับเที่ยง

 

ภายในตัวเมือง “ทับเที่ยง” อำเภอเมือง จังหวัดตรังกว่า 33 ปีมาแล้ว กับภาพหญิงผู้หนึ่งกับจักรยานแม่บ้านคันเก่าที่ ด้วยลีลาการปั่นอย่างทะมัดทะแมง สวมแว่นกันแดดสไตล์โฉบเฉี่ยวเปรี้ยวเข็ดฟัน เธอปั่นไปทั่วเมือง โดยเฉพาะย่านตลาดการค้า ไม่ว่าจะเป็นทางราบหรือเนินควน อาทิ ถนนพระรามหก ถนนราชดำเนิน ถนนห้วยยอด ถนนวิเศษกุล ถนนรัษฎา ถนนกันตัง ฯลฯ หรือตามตรอกซอกซอยต่างๆ ทั้งในยามเช้า ยามเย็น หรือแม้แต่ยามค่ำ

 

 

จีเหลี่ยน BIKERแห่งทับเที่ยง

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.trang.com

ภาพ Ta Trangtoday

หมายเหตุ : เป็นบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยมีการปรับแต่งเนื้อหาให้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว

.......................

 

ภายในตัวเมือง “ทับเที่ยง” อำเภอเมือง จังหวัดตรังกว่า 33 ปีมาแล้ว กับภาพหญิงผู้หนึ่งกับจักรยานแม่บ้านคันเก่าที่ ด้วยลีลาการปั่นอย่างทะมัดทะแมง สวมแว่นกันแดดสไตล์โฉบเฉี่ยวเปรี้ยวเข็ดฟัน เธอปั่นไปทั่วเมือง โดยเฉพาะย่านตลาดการค้า ไม่ว่าจะเป็นทางราบหรือเนินควน อาทิ ถนนพระรามหก ถนนราชดำเนิน ถนนห้วยยอด ถนนวิเศษกุล ถนนรัษฎา ถนนกันตัง ฯลฯ หรือตามตรอกซอกซอยต่างๆ ทั้งในยามเช้า ยามเย็น หรือแม้แต่ยามค่ำ

               

ในตระกร้าจักรยานรวมถึงอานบรรทุกด้านหลัง มีหนังสือสารพัดชนิด ทั้งหนังสือพมิพ์ นิตยสาร ไปจนถึงพ็อกเก็ตบุ๊ค เพื่อส่งให้กับลูกค้านักอ่านในเมืองเล็กๆ ที่ขึ้นชื่อว่ายังมีคนอ่านหนังสือหลงเหลืออยู่ในจำนวนไม่น้อย

               

“จีเหลี่ยน” หรือ “น.ส.กุลชลี งามจี้” คือหญิงผู้นั้น กับจักรยานแม่บ้านคู่ใจ ตลอดระยะเวลา 31 ปีของการตัดสินใจเลือกใช้จักรยานเป็นพาหะนะในชีวิตประจำวันของหญิงวัย 60 ปี แห่ง “ร้านเจริญวิทย์” ร้านหนังสือเก่าแก่แห่งหนึ่งใน “เมืองทับเที่ยง” ริมถนนพระรามหก “จีเหลี่ยน” เป็นที่รู้จักมักคุ้นของหนอนหนังสือเมืองตรังหลายรุ่น ตั้งแต่เด็กนักเรียนที่ต้องไปหาหนังสือแบบเรียน คู่มือกวดวิชา เพราะถ้าหาเองไม่เจอ บอก “จีเหลี่ยน” คำเดียว แกก็จะไปรื้อค้นมาให้ไม่เคยพลาด แถมยังลดราคาให้อีก แต่ถ้าที่ร้านไม่มี แกก็จะแนะนำต่อว่าที่ไหนมี ไม่เท่านั้น คอเรื่องสั้น นิยาย นวนิยาย หลายคนก็คุ้นเคยกับ “จีเหลี่ยน” แห่ง “ร้านเจริญวิทย์” ในฐานะกูรูด้านการอ่านเช่นกัน

               

“จีเหลี่ยน” กับครอบครัวได้แก่แม่และน้องสาว เปิดร้านหนังสืออยู่ริมถนนพระรามหกมา 31 ปีแล้ว และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ “จักรยาน” ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ภาพจักรยานแม่บ้านคันเก่าของ “จีเหลี่ยน” จอดในตำแหน่งเดิมด้านหน้าร้านทุกวัน เป็นภาพที่หลายคนคุ้นเคย แต่หากจักรยานคันดังกล่าวไม่อยู่ แสดงว่า “จีเหลี่ยน” ออกไปส่งหนังสือข้างนอก ซึ่งไปไม่นานก็กลับมา กว่า 33 ปีของการทำธุรกิจร้านหนังสือเล็กๆ ย่อมมีกำลังพอที่จะซื้อหารถราที่มีเครื่องยนต์กลไกมาใช้ แต่ “จีเหลี่ยน” กลับไม่ต้องการ เธอยังคงเลือกใช้จักรยานตามความคุ้นชินเช่นเดิม และไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลงอีกแล้วในชีวิตนี้

               

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 36  ปีก่อน ในพ.ศ. 2521 นิสิตสาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน จาก “เมืองตรัง”   ผู้ใช้จักรยานปั่นไปเรียนหนังสือและปั่นไปตามที่ต่างๆในมหาวิทยาลัยเหมือนกับนิสิตอีกจำนวนมากในยุคนั้น เริ่มตกหลุมรักพาหะนะสองล้อขับเคลื่อนด้วยแรงคนนี้ “จีเหลี่ยน” บอกว่า จักรยานกับนิสิตม.เกษตรฯทุกยุคเป็นของคู่กัน เพราะพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยกว้างขวางมาก สมัยนั้นถ้าไม่เดินก็ต้องใช้จักรยาน จักรยานจึงเป็นพาหะนะที่นักศึกษาเข้าถึงได้ เพราะราคาไม่แพงเท่ามอร์เตอร์ไซค์หรือรถยนต์ หาที่จอดก็ง่าย ไม่ต้องเติมน้ำมัน ปั่นไปเรียนก็ได้ ปั่นไปเที่ยวก็ได้ สมัยนั้นปั่นจักรยานเที่ยวกันกับเพื่อนๆ ซ้อนท้ายกันไป ผลัดกันปั่น สนุกสนานเฮฮา แล้วก็ช่วยประหยัดเงินได้มากสำหรับเด็กต่างจังหวัด

               

“เรียนจบมาฉันก็ไปเป็นครูอยู่ที่สมุทรปราการอยู่พักหนึ่ง ก็ใช้จักรยานมาตลอด จนกระทั่งกลับมาเปิดร้านหนังสือที่ตรัง จนวันนี้ก็ 31 ปีมาแล้ว ก็ใช้จักรยานมาตลอด รถเครื่องก็ขี่ไม่เป็น รถยนต์ก็ยิ่งขับไม่เป็น ขี่เป็นแต่จักรยาน” ... “จีเหลี่ยน” เล่าไปหัวเราะไป  

               

“เดี๋ยวนี้ฉันก็จะปั่นส่งหนังสืออยู่แถวๆตลาดนี่แหละ ไม่ไปไกลมาก เพราะรถราก็ขับกันเร็วขึ้น อันตรายมากขึ้น คนปั่นจักรยานก็ต้องระวังมากขึ้น แต่ถ้าในเมืองรถจะขับกันไม่ค่อยเร็วเรายังพอปั่นได้ แต่ถ้าตามถนนเส้นนอกเมืองรถใช้ความเร็วสูงเราก็ต้องระวัง ก็อยากให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับผู้ใช้จักรยานนะ จะได้มีความปลอดภัย เหมือนวันก่อนป้าไพแกเป็นคนขายของในตลาด แกปั่นจักรยานทุกวัน อายุ 82 ปีแล้ว ก็มีรถมาเฉี่ยวแก อย่างนี้อันตราย แล้วอยากให่คนใช้รถใช้ถนนมีน้ำใจให้กันและกัน อุบัติเหตุจะได้น้อยลง”

               

“จีเหลี่ยน” เลือกใช้ “จักรยานแม่บ้าน” เพราะราคาไม่แพง และมีประโยชน์ใช้สอยสารพัด เธอบอกว่า “จักรยานแม่บ้าน” มีตระกร้าใส่ของ มีอานบรรทุกของด้านหลัง แม้ไม่มีเกียร์เหมือนจักรยานรุ่นใหม่แต่เธอกลับถนัดและคุ้นเคยมากกว่า สำหรับ “จักรยานแม่บ้าน” คันปัจจุบันสีฟ้าของเธอมีอายุใช้งาน 7-8 ปีมาแล้ว แม้สภาพภายนอกจะแลดูเก่า มีสนิมกินบ้างแต่ยังใช้งานได้ดี มีโซ่หลุดบ้างก็ใส่กลับเองได้ มียางรั่วบ้างก็ซ่อม สมัยก่อนยางรั่วบ่อยเพราะตะปูเยอะ แต่สมัยก่อนเขายังรับปะยางจักรยาน แต่สมัยนี้ต้องเปลี่ยนยางในลูกเดียว ช่างไม่ค่อยรับปะ

               

“33 ปีที่ผ่านมา ฉันใช้จักรยานมา 5 คันแล้ว คันแรกฉันใช้นานถึง 11 ปี เพราะรถสมัยก่อนทำมาคุณภาพดีมากๆ แต่ละคันฉันจะใช้จนคุ้ม ใช้จนพัง(หัวเราะ) คือจะซื้อใหม่ก็ต่อเมื่อซ่อมแล้วไม่คุ้ม ดังนั้นจักรยานแต่ละคันชองฉันจะใช้งานอย่างคุ้มค่ามากๆ และไม่ใช้เฉพาะส่งหนังสือเท่านั้น ฉันใช้จักรยานสำหรับทุกอย่าง ใช้เป็นชีวิตประจำวันเลย ไปซื้อข้าวซื้อแกงซื้อของอะไรก็ปั่นจักรยานไป”

               

ภาพหญิงวัย 62 ปีกับ “จักรยานแม่บ้าน” คันเก่ง ไม่ว่าพบเจอที่ไหนก็ย่อมสะดุดตา เพราะเธอจะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง สวมเสื้อคอจีนกับกางเกงผ้าขายาวกับของเท้าแตะแบบที่คนจีนนิยม แต่ทว่าเธอจะสวมแว่นสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ในยามกลางวันจะเป็นกันแดดทันสมัยแบบวัยรุ่น ส่วนถ้าเป็นเวลากลางคืนจะเปลี่ยนเป็นแว่นใส “จีเหลี่ยน” บอกว่าไม่ได้หวังเท่ห์หรือใส่ไว้อวดใคร แต่เธอต้องใส่แว่นเพื่อป้องกันลมและแมลงเข้าตาเธอ

               

“จีเหลี่ยน” เผยเคล็ดลับในการปั่นตลอดระยะเวลา 31 ปีของเธอว่า อยู่ที่ “ใจ” ถ้าเราตัดสินใจใช้จักรยานแล้ว เราก็ต้องใช้มันจริงๆ และไม่จำเป็นว่าจักรยานที่ใช้จะต้องเลิศหรูหรือมีราคาแพง อย่างตัวเธอก็ใช้จักรยานธรรมดาๆ ไม่มีเกียร์ และเธอก็ปั่นจักรยานแบบมีเกียร์ไม่เป็นอีกต่างหาก เธอบอกว่าจักรยานจะพาเราไปยังที่ต่างๆได้ตามที่ “กำลังใจ” และ “กำลังกาย” ของเราจะพาไปถึง เราต้องรู้จักกำลังและเรี่ยวแรงของตัวเอง ไม่ไหวก็อย่าไปฝืน เธอบอกว่าเนินหรือควนใน “ทับเที่ยง” มีมากมาย ถ้าไม่ไหวจริงๆก็จอดเข็นได้

               

“ทางราบฉันก็ปั่นได้สบายๆ แต่ถ้าขึ้นควนเราก็ต้องมีเทคนิค ถ้าควนที่ชันและยาวมากๆเราก็ลงเข็นไม่เห็นเป็นไร  อย่างควนทางขึ้นหลังจวนผู้ว่าฯหรือในซอยมูลนิธิมันปั่นไม่ไหวอยู่แล้ว หรือถ้าช่วงไหนลงควนก่อนจะขึ้นควนเราก็ปั่นส่งลงมาให้เร็วเพื่อที่ตอนขึ้นควนเราจะได้ไม่ต้องออกแรงเยอะ เหมือนควนทางเข้าโรงเรียนฮั่วเฉียวติดกับโรงเรียนอนุบาลตรัง  ซอยตรอกปลาฉันก็ปั่นขึ้นได้ แต่เราต้องรักษาแรงให้คงที่ ค่อยๆปั่นไปอย่าใจร้อน ถ้าเราไม่ใจร้อน เราก็ปั่นไปได้ทุกที่”

               

“จีเหลี่ยน” บอกว่า เธอไม่ใช่ไอดอลเกี่ยวกับจักรยานอะไร เพียงแต่เธอคือคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆ และ “จักรยาน” เปรียบเหมือนชีวิตและลมหายใจของเธอ เป็นความผูกพันที่สั่งสมมาทั้งชีวิตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และยังมีอีกหลายคนที่ใช้จักรยานในชีวิตจริงเหมือนกับเธอ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ทยอยล้มหายตายจากไปตามอนิจจังของสังขาร แต่เธอก็ยังอยากให้คนอื่นๆหันมาใช้จักรยานในชีวิตจริงกันมากขึ้น

               

“สมัยก่อนที่ฉันเริ่มใช้จักรยานใหม่ๆตอนมาเปิดร้านหนังสือ คนตรังในเมืองใช้จักรยานกันมากนะ ในตลาดสมัยก่อนมีแต่คนปั่นจักรยาน รถราต่างๆก็ยังมีไม่เยอะ สมัยนั้นร้านหนังสือส่วนใหญ่ในทับเที่ยงใช้จักรยานส่งหนังสือหมด ร้านมิตรสาส์นยุคแรกๆก็ใช้จักรยานส่งหนังสือ คนรุ่นเก่าๆเขาใช้จักรยานกันเยอะ ใช้จริงในชีวิตประจำวันกันเลย แต่พอมาสมัยใหม่คนก็ใช้จักรยานน้อยลง เพราะใครๆก็มีรถ บางคนก็คิดว่าจักรยานมันไม่ทันใจ แต่ฉันคิดว่าการใช้จักรยานเป็นสิ่งที่ดีนะ อย่างน้อยฉันก็ได้ออกกำลังกาย เพราะเราทำงานทุกวันไม่มีเวลาออกกำลังกาย การปั่นจักรยานในการทำงานก็เท่ากับเราได้ออกกำลังกายไปในตัว”

               

 

“ทุกวันนี้สุขภาพของฉันดีมาก ไม่ค่อยเจ็บป่วย การใช้จักรยานให้สิ่งดีๆกับเรามากมาย ฉันก็อยากให้คนที่ไม่เคยปั่นหันมาลองปั่นจักรยานดู สัปดาห์หนึ่งปั่นสัก 2-3 วันก็ยังดี เป็นการออกกังกาย แล้วถ้าใครใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้จริงก็จะดีมากๆ ปั่นไปทำงาน ปั่นไปโน่นไปนี่ จะช่วยประหยัดเงินได้มากในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สมัยนี้ถนนหนทางก็ทันสมัยขึ้น ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน”

           

การสนทนาแบบสั้นๆกับ “จีเหลี่ยน” เรื่องจักรยานสิ้นสุดลง เพราะถึงเวลาที่เธอจะต้องไปส่งหนังสือแล้ว เธอกล่าวลาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มก่อนจะหยิบแว่นกันแดดมาสวมและฉวยเอาจักรยานคันเก่งปั่นออกไปเหมือนทุกๆวัน...

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................