เล่าเรื่องเมืองช่างกิน ตำนานอาหารตรัง

 

สิ่งที่ทำให้เมืองตรังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองคนช่างกิน คือความมีน้ำใจ

 

 

เล่าเรื่องเมืองช่างกิน ตำนานอาหารตรัง

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday , ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ฉบับมกราคม 2558 และ สารคดีออนไลน์ทางเพจ @TRANG ที่นี่จังหวัดตรัง

 

“สิ่งที่ทำให้เมืองตรังขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง “คนช่างกิน” คือคนตรังมีน้ำใจ แขกไปใครมาต้องดูแลอย่างดี สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าดูแลอย่างดี คือเรื่องอาหาร การเลี้ยงดู ไม่ว่าจะ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็นค่ำ ดึก จึงมีอาหารการกินสารพัดเมนู เพราะคนตรังมีนิสัยคบเพื่อนเลี้ยงดูแขก วัฒนธรรมผสมในเรื่องอาหารจีนในตรัง หลักๆจะมี ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง แต่จิ๋ว แคะ ไหหลำ และย่อยๆอีกมาก”

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง เปิดตัว “ตรัง...ยุทธจักรความอร่อย” ตามนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ ประจำปี 2558 ต่อเนื่อง ปี 2559 ตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อันเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองทางเลือก ภายใต้แนวคิด “เมืองต้องห้าม...พลาด” ซึ่งเป็นการเปิด 10 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจทั่วประเทศ โดยคัดเลือกจากจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวปีละไม่เกิน 2 ล้านคน จาก 5 ภูมิภาคๆ ละ 2 จังหวัด เพื่อกระจายการท่องเที่ยวสู่จังหวัดท่องเที่ยวทางเลือกที่มีเอกลักษณ์และมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว

               

ซึ่ง “ตรัง” ของเรา ติด 1 ใน 10 ของการผลักดันดังกล่าว รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยว จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งในยามที่สินค้าเกษตรโดยเฉพาะ “ยางพารา” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเราเลือกยุทธศาสตร์ “ตรัง...ยุทธจักรความอร่อย” เป็นจุดขายชูโรง แน่นอนว่า “เมืองตรัง” ขึ้นชื่อเรื่อง “อาหารการกิน” ที่หลากหลาย จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองคนช่างกิน” เรื่องนี้ได้นั่งคุยกับ “อาจารย์สุภาวดี นาคบรรพ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์การศึกษา ประจำศูนย์ห้วยยอด สาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งตรัง อาจารย์ได้เล่าเรื่องราวและเสนอมุมมองที่น่าสนใจไว้ในเรื่องนี้

               

 

“ที่ผ่านมามันเป็นการผ่านจุดสูงสุดมาแล้วสำหรับงานด้านอุตสาหกรรมอาหาร เราสามารถคิดค้น ผลิต เก็บรักษาอาหารโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆมากมาย พอถึงจุดอิ่มตัว โลกก็เปลี่ยนไป คนไม่สนใจเรื่องอาหารที่อยู่ได้นานแล้ว เพราะอาหารที่อยู่ได้นานอาจจะมากับโรคและสารสะสมบางอย่าง เพราะยิ่งเรามีพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ โรคก็จะยิ่งร้ายแรงมากเท่านั้น”

               

“วันนี้เทรนเปลี่ยนไปมานิยมบริโภคอาหารที่ปรุงใหม่ นิยมการบริโภควันต่อวัน เมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนก็มีความพิถีพิถันเรื่องการกินมากขึ้น คนยิ่งมีเงินก็จะเลือกกิน อาหารเลยกลายเป็นเรื่องของศิลปะ คนจะสรรหาอาหารดีๆ อาหารอร่อยๆ ที่สำคัญคือทุกวันนี้คนจะกินอะไรต้องมีเรื่องราว เพราะมูลค่าของอาหารในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ความอร่อยอย่างเดียว มันอยู่ที่เรื่องราวด้วย ดังนั้นอาหารใดอร่อยแล้วยิ่งมีประวัติ มีเรื่องราว ก็จะยิ่งน่าสนใจ มันมีเรื่องเล่า เหมือนกับอาหารของตรัง มันมีเรื่องเล่า”

               

เมื่อถึงยุคที่ “เรื่องราว” อร่อยพอๆกับ “รสชาติ” ก็ทำให้ต้องหันกลับมามองที่ตัวเราเองว่า “อาหารเมืองตรัง” ของเรา มีเรื่องเล่าหรือเรื่องราวมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ “อาจารย์สุภาวดี” ยืนยันว่าเรื่องของของอาหารการกินของ “คนตรัง” นั้นเราไม่แพ้ใคร ในเรื่องของ “เรื่องราว” แต่ในเรื่องของ “เรื่องเล่า” นั้นถึงเวลาแล้วที่ “คนตรัง” จะต้องหันมาร่วมไม้ร่วมมือกันบอกอย่างเป็นระบบ เริ่มที่การรับรู้จนเกิด “ความภาคภูมิใจ” ของ “คนตรัง” เองก่อน

               

 

“ถ้าเราจะมองเสน่ห์ของอาหารตรัง อันดับแรกคือต้องมากิน มาลิ้มรส มาสัมผัสบรรยากาศที่ตรัง เพราะบางอย่าง อาทิ หมูย่างเหมืองตรัง ซื้อไปกินกรุงเทพฯก็ไม่เหมือนกับกินที่ตรัง การกินน้ำชา กินที่กรุงเทพฯก็ไม่เหมือน เพราะมันเป็นการเสพในเรื่องของเรื่องราวไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นจุดขายที่แข็งแรงของอาหารตรัง แต่เราก็ยังไม่เคยทำให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ต้องเริ่มว่า เมืองตรังเป็นเมืองรวมทุกชาติอยู่ด้วยกันอย่างไม่น่าเชื่อ ดูลึกๆอาหารของคนตรังแบ่งออกเป็น 3 สายคือ 1.อาหารคนจีน 2.อาหารไทย และ 3.อาหารมุสลิม แต่ละอย่างล้วนมีเรื่องราวของชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกัน ด้วยความที่ตั้งแต่อดีตเมืองตรังเป็นเมืองผ่านไปยังเมืองอื่น สมัยก่อนจากปีนังจะไปภูเก็ตก็ต้องผ่านมาลงกันตังก่อนต่อไปภูเก็ต และด้วยความที่เรามีพระยารัษฎาฯเป็นเจ้าเมืองที่เก่ง ท่านสร้างทางรถไฟไปสุดที่กันตัง คนก็หลั่งไหลมา เกิดการรวมกลุ่มของชาติพันธุ์ ทำให้เกิดวัฒนธรรมผสมผสานที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ”

               

“สำหรับอาหารของชาวมุสลิม ส่วนใหญ่จะขึ้นมาจากมาเลเซีย มุสลิมเปอร์เซียในสมัยก่อนจะหาแผ่นดินใหม่ ผ่านทางการขึ้นเรือมาเพื่อหาแผ่นดินใหม่ เพื่อเผยแพร่ศาสนา ทำให้แถบอำเภอปะเหลียนจะมีมุสลิมเยอะ แล้วให้สังเกตว่าตรังในชุมชนต่างๆ หรือแม้แต่ในอำเภอเมืองในปัจจุบันจะมีทุกชนชาติอยู่ร่วมกัน มีการแชร์กันโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวคือตัวอย่าง การกินน้ำชากับโรตี น้ำชามาจากชาวจีน โรตีมาจากชาวมุสลิม ผสมผสานกันแบบไม่รู้ตัว การผสมผสานที่ว่านี้ได้กลายเป็นเรื่องใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ตรัง สมัยก่อนที่อำเภอห้วยยอดเป็นเหมือง ต้องมีการใช้แรงงาน สมัยก่อนคนจีนก็เข้ามาใช้แรงงาน รวมไปถึงการสร้างทางรถไฟและระบบเศรษฐกิจต่างๆในยุคนั้น มีโปรตุเกสเข้ามาสัมปทานเหมือง ทางการจัดเก็บรายได้ ยุคนั้นต้องพึ่งพาแรงงานชาวจีนจำนวนมาก พระยารัษฎามีเชื้อสายจากเมืองฟูเจี้ยน(ชาวจีนฮกเกี้ยน) มีการนำเรือกลไฟขนแรงงานจีนมาลงปีนัง แล้วเอามาส่งที่กันตัง ที่ภูเก็ตก็เช่นกันเอาแรงงานจีนที่มาทางปีนังเหมือนกัน ดังนั้นตรังกับภูเก็ตจะมีเรื่องชาติพันธ์จีนที่คล้ายคลึงกัน”

               

 

“อาจารย์สุภาวดี” บอกว่า ชาวจีนใน “ตรัง” หลักๆจะมี “จีนฮกเกี้ยน” “จีนกวางตุ้ง” “จีนแต่จิ๋ว “จีนแคะ” "จีนไหหลำ" และย่อยๆอีกมาก ซึ่งตามภูมิศาสตร์ของประเทศจีน เมืองฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) กับ เมืองกวางตุ้งจะอยู่ติดกัน โดยมีคนแต้จิ๋วเป็นคนกลุ่มน้อยที่อยู่คั่นกลางระหว่างฟูเจี้ยนกับกวางตุ้งตามแนวภูเขา จีนแคะก็เป็นชนกลุ่มน้อย โดยจีนฮกเกี้ยนกับจีนกวางตุ้งจะเป็นคนเมืองใหญ่กลุ่มใหญ่ ดังนั้น “ฮกเกี้ยน” กับ “กวางตุ้ง” จะมีขนาดของวัฒนธรรมมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น “อาหารฮกเกี้ยน” กับ “อาหารกวางตุ้ง” จึงมีชื่อเสียง สำหรับอาหารเมืองตรัง สาย “จีนกวางตุ้ง” จะมี เกาหยก หมูย่าง ส่วน “จีนฮกเกี้ยน” จะมี หมี่ฮกเกี้ยน เป็นต้น แต่ด้วยการที่ลงเรือมาลำเดียวกัน หรือมาใช้ชีวิตร่วมกัน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนผสมผสานด้านการกินกัน

               

ที่สำคัญยิ่งและขาดไม่ได้เลยสำหรับน้ำจิ้มเอกลักษณ์ของเมืองตรัง คือ “ค้อมเจือง” หรือ "กำเจือง" หรือ "ส้มเจือง" เป็นเครื่องปรุงอาหารประเภทน้ำจิ้ม ตามตำรับของชาวไทยเชื้อสายจีน เดิมเรียกว่า “ห่อยชิ้นเจือง” แปลว่าซอสใหม่หรือซอสสด มีสีออกส้มแดง ทำจากมันเทศ ถั่วลิสงต้มจนสุกเปื่อยนำไปโม่จนละเอียด แล้วปรุงแต่งด้วยน้ำตาล น้ำส้ม เกลือ ต้มจนเดือดแล้วเคี่ยวต่อด้วยความร้อน เมื่อเย็นสนิทจึงนำบรรจุใส่ภาชนะมีฝาปิดแล้วนำออกขาย ใช้เป็นน้ำจิ้มหมูย่างหรือเป็นส่วนผสมของน้ำจิ้มขนบจีบและขนมนึ่งประเภทติ่มซำ ปอเปี๊ยะ และผสมน้ำราดขนมปากหม้อเมืองตรัง แต่เดี๋ยวนี้หายาก คนทำเป็นน้อยลง  ยุคหลังเลยดัดแปลงมาใช้ซอสมะเขือเทศซึ่ง จีนก็ใช้ซอสมะเขือเทศมานานแล้วเช่นกัน

               

ดังนั้น สิ่งที่ติดมากับการเคลื่อนย้ายของชาติพันธุ์คือ “อาหาร” ดังตัวอย่างหนึ่งที่ สวนดุสิตตรังเคยศึกษาด้วยการทำ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ บ่งบอกแหล่งผลิตสินค้าด้วยลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ ประกอบทักษะ ความชำนาญ และภูมิปัญญาของมนุษย์) เกี่ยวกับ “หมูย่างเมืองตรัง” ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์จังหวัด “หมูย่างเมืองตรัง” ในทางวิชาการคือ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”  คือ ที่อื่นทำไม่ได้ ต้องเป็นที่นี่เท่านั้นที่ทำได้ แสดงถึงความอัศจรรย์ เริ่มต้นจากถิ่นฐานของชาวกวางตุ้งจากแผ่นดินใหญ่ ที่อพยพมาตามลมตะวันออกเฉียงใต้ ในเรือนั้นอาหารการกิน เสบียงกรังเป็นสิ่งสำคัญ ชาวกวางตุ้งผู้มองหาถิ่นฐานแผ่นดินใหม่ ไม่ได้มาแต่ตัว แต่ได้นำรากฐานชีวิตวัฒนธรรมใส่เรือมาด้วย นอกจากเครื่องเทศที่จำเป็นที่ถูกบรรทุกใส่เรือมาด้วยแล้ว ยังมีหมูเป็นครอกๆใส่เรือมาด้วย และเป็นหมูพันธุ์เฉพาะสำหรับเมนูในแบบชาวกวางตุ้ง ที่มีลักษณะของเนื้อและมันขนาดพอดิบพอดี เมื่อขึ้นฝั่ง พันธุ์หมูเหล่านี้ได้ขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานในตรัง

               

 

"หมูย่างเมืองตรัง" เป็นเมนูบ่งบอกทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากทั้งสายพันธุ์ที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า "หมูขี้พร้า" ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสภาพภูมิอากาศ ความชื้น ของเมืองตรังที่ร้อนชื้นพอดี ได้ส่งผลต่อการเลี้ยงหมูให้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนที่แห่งใด คือ เนื้อดี มันพอดี หนังบาง อย่างอัศจรรย์ แม้บางครั้งจะไม่ใช้หมูขี้พร้า แต่หมูอื่นๆไม่ว่าพันธุ์ไหนก็จะต้องเลี้ยงในแถบตรัง-พัทลุง ที่สำคัญการใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง จะให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวซึ่งดัดแปลงมาจากสูตรเดิมของจีนที่ใช้เชื้อเพลงอย่างอื่น เพราะตรังปลูกยางพาราเยอะ การขุดหลุมเพื่อทำเตาย่าง เป็นการให้อุณหภูมิแบบเฉพาะ การย่างหมูย่างเมืองตรังแบบดั้งเดิม ทั้งกระบวนการใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง โดยมีกระบวนการซับซ้อนมากมาย เรียกว่าเรื่องราว เล่าให้ฟังคร่าวๆพอสังเขป เริ่มที่

               

1.พักหมูเป็นไว้ 1 วัน งดอาหาร เพื่อให้ลำไส้ของหมูขับถ่ายของเสียออกให้หมด หมูปกติที่กินอาหารเนื้อจะฉ่ำน้ำหมายถึงกระบวนการทางชีววิทยาของการย่อยและแปรสภาพจากการกิน แต่การพักหมูไว้ จะหยุดการฉ่ำน้ำของเนื้อหมู ไม่มีกลิ่นสาบ  2.ฆ่าหมู ผ่าเอาเครื่องในออก และกรีดริ้วเพื่อให้เครื่องเทศเข้าถึง การกรีดริ้วต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพราะกรีดลึกไปหนังก็ขาดมีผลต่อการย่างเครือเทศจะทะลุหนัง ย่างก็จะไหม้  3.คลุกเครื่องเทศหมักครั้งที่1ใช้เวลา3ชั่วโมง  4.เทเครื่องหมักเก่าออก แล้วคลุกหมักใหม่อีก1ชั่วโมง 5.แขวนหมูให้แห้งอีก1ชั่วโมง 6.ใส่โครงไม่ให้หมูห่อตัว 7.เผาหนังก่อนย่างจริง ห่อด้วยกระดาษฟรอยด์ พลิกไปมาเผาให้สม่ำเสมอทั้งตัวเพื่อทำให้หนังกรอบ เอาขึ้นลงหมุนไปมาใช้เวลา1ชั่วโมง 8.ย่างจริงในเตาใช้เวลา2ชั่วโมง และจะย่างกลางคืน เพื่อจะสามารถส่องไฟให้สะท้อนกระทบเพื่อดูสีและความกรอบของหนังได้อย่างที่แสงกลางวันทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้

               

“เขาจะฆ่าหมูช่วงเช้า บ่ายหมักหมู แล้วย่างตอนดึก ย่างกลางวันไม่ได้ เพราะหมูก็ร้อน คนก็ร้อน อารมณ์เสียทำอาหารก็ไม่อร่อย กลางคืนข้างนอกจะเย็น แต่ในเตาจะมีอุณหภูมิเฉพาะ และด้วยกระบวนการที่พิถีพิถันและซับซ้อนขนาดนี้ หมูย่างราคากิโลกรัมละ 400 บาทจึงไม่แพงเลย เพราะทำกันเป็นวันๆ” “อาจารย์สุภาวดี” บอก

               

“ขนมเค้ก สมัยก่อนคนจีนเรียกขนมขึ้นหรือขนมไข่ เอาไว้สำหรับไหว้เจ้า หรือขอเมีย คนจีนใช้เป็นขนมมงคล แล้วมาผสมผสานกับตะวันตกในยุคของการทำเหมือง มีฝรั่งมาสัมปทานเหมือง ฝรั่งจะกินเค้กกับกาแฟ และกาแฟก็มาจากฝรั่ง คนจีนกินชา ในยุคก่อนตรังมีการปลูกกาแฟ คั่วกาแฟ โดยเฉพาะโรบัสต้า อย่างที่มีชื่อคือกาแฟเขาช่อง ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีร้านกาแฟเขาช่องอยู่แต่ไม่แน่ใจว่ายังคงปลูกอีกหรือไม่”

               

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ “เมืองตรัง” ขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง “คนช่างกิน” ก็คือ “คนตรังมีน้ำใจ” เรื่องนี้ใครหลายๆคนเล่าตรงกัน โดยเฉพาะผู้มาเยือน แขกไปใครมาต้องดูแลอย่างดี สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าดูแลอย่างดีคือเรื่องอาหาร การเลี้ยงดู คือให้มากินกัน ดังนั้นไม่ว่าจะ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็นค่ำ ดึก ก็จะมีอาหารการกินสารพัดเมนูซึ่งที่อื่นจะไม่มีแบบนี้ คนตรังมีนิสัยคบเพื่อน เลี้ยงดูแขก แม้ปัจจุบันคนตรังจำนวนมากก็ยังกินข้าวนอกบ้าน ไม่ค่อยทำกินเอง  และสิ่งที่บ่งบอกและชื่อกันว่าดูแลแขกได้ดีที่สุดคือ เนื้อสัตว์ ไม่ใช่พืชหรือผัก ยิ่งตามงานเลี้ยง งานแต่งงาน งานศพของคนตรัง รสชาติและเมนูถือเป็นหน้าตา”  

               

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “เรื่องเล่า” จาก “อาหารคนตรัง” ซึ่งยังมีอีกมากมายที่เล่าได้ไม่แพ้ใคร เป็น “อัตลักษณ์” และ “ความภาคภูมิใจ” ที่เราทุกคนช่วยทำให้เกิดขึ้นได้ “อาจารย์สุภาวดี” บอกว่า ถ้ามีการบอกเล่าเรื่องราวแบบนี้ ความอร่อยของอาหารคนตรังจะมีมากขึ้น จะเล่าเรื่องราวด้วยคน มีรูปภาพ มีป้ายในมุมหนึ่งของร้าน จนกระทั่งมีอยู่ในเมนูก็ได้

           

“วันนี้เราได้พัฒนาผู้ประกอบการด้านขนส่งผู้โดยสารให้พูดภาษาอังกฤษได้ พานักท่องเที่ยวไปถึงที่หมายได้ พาไปร้านของกินได้ แต่พาไปถึงแล้วยังไม่มีเรื่องราวเล่ากับนักท่องเที่ยว มันจึงเหมือนยังไปไม่สุด ปัญหามีหลายส่วน คือ ความเชื่อที่ว่าขายดีอยู่แล้ว ขายไม่ทันอยู่แล้ว ดังนั้นมันจะจบอยู่แค่รุ่นนั้นๆ ไม่ได้สืบและพัฒนาต่อ หลายสิ่งที่ดีๆในตรังจึงหายไปด้วยสาเหตุนี้เยอะ ลูกหลานไม่สืบทอดเพราะไปเจอสิ่งอื่น เพราะเราไม่สร้างเรื่องราวให้เขาภาคภูมิใจและสืบสานต่อ  อีกปัญหาคือไม่บอกใคร หวงสูตร สูตรต้องตายไปกับฉัน ดังนั้นเมื่อหมดรุ่นไปสูตรก็ตายตามไปด้วย”...

 

......................................................

 

มสด. ตรังกวาดรางวัลประกวดอาหารนานาชาติที่เซี่ยงไฮ้

               

เดิมเป็นศูนย์การศึกษา ศูนย์ตรัง สถาบันราชภัฏสวนดุสิต จัดตั้งขึ้นตามนโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษาของสถาบัน ในด้านการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ชุมชนในทุกภูมิภาค เป็นศูนย์การศึกษานอกสถาบันแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับความต้องการในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งยังมุ่งเน้นในการพัฒนาองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและให้บริการวิชาการสู่ชุมชนของภูมิภาคภาคใต้ เริ่มเปิดทำการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 โดยใช้พื้นที่ของวิทยาลัยการอาชีพห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และได้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนที่ ถ.วิเศษกุล ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง เมื่อ พ.ศ. 2548

               

ปัจจุบันศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง จัดตั้งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการจัดการศึกษานอกที่ตั้ง พ.ศ.2552 และเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2548 โดยจัดการเรียนการสอน 2 สถานที่ คือ ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง และ ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด

               

เมื่อเร็วๆนี้โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง คว้า 2 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 10 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันทำอาหารระดับนานาชาติ รายการ 16th FHC China International Culinary Arts Competition 2014  ได้แก่ 2 เหรียญทอง จาก อ.ทิพย์พิกา ธรฤทธิ์ จากประเภท Pasta Free Style และ นายวัฒนศักดิ์ ช่างเก็บ จากประเภท Main Course Lamb 5 เหรียญเงิน จาก อ. จารึก  ศรีอรุณ จากประเภท Main Course Beef  นายวัฒนศักดิ์ ช่างเก็บ จากประเภท Pasta Free Style  อ.สมิตา   มอร์เตโร จากประเภท Main Course Sea Foods  น.ส.เพ็ญศิริ พิศนุแสน จากประเภท Main Course Chicken และ อ.พนม ทองมาก จากประเภท Main Course Lamb และอีก 10 เหรียญทองแดง จาก อ.พนม ทองมาก    อ.สิรินทิพย์ สุตตาพงษ์ และนายวินิชพงษ์ คงขำ จากประเภท Main Course Beef  อ.ทิพย์พิกา ธรฤทธิ์ อ.เอก ชาติตระกูล นายวินิชพงษ์ คงขำ จากประเภท Main Course Sea Foods  อ. สุภาวดี นาคบรรพ์ นายแชมป์  วงศ์วิวัฒน์ จากประเภท Main Course Chicken อ. สุภาวดี นาคบรรพ์ อ.สมิตา มอร์เตโร จากประเภท Pasta Free Style  ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

 

........................

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ คลิกสาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งตรัง

....................

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................