TrangStreetArt ปฏิบัติการสร้างสรรค์ของคนมือบอน

 

เมื่อไม่นานมานี้หลายคนที่มีโอกาสสัญจรในย่านตัวเมืองทับเที่ยง คงได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่เกิดขึ้นในทางสร้างสรรค์ นั่นคือ โครงการ “ตรังสวยด้วยโรตารี” ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยสโมสรโรตารีตรัง เป็นภาพวาดฝาผนัง 3 มิติจำนวนทั้งหมด 3 จุดนำร่อง เรียกสั้นๆว่า Street Art ถือเป็นการนำเสนอมุมมองเพื่อสร้างลูกเล่นและมนต์เสน่ห์ใหม่ๆให้กับเมืองตรัง

 

 

Trang Street Art ปฏิบัติการสร้างสรรค์ ของคนมือบอน

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง ฉบับเดือนกรกฎาคม 2558

 

ภาพวาดฝาหนังดังกล่าวถูกถอดโจทย์มาจากวรรคหนึ่ง ของคำขวัญของจังหวดตรังที่ว่า “ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เพื่อมุ่งให้ Street Art ของเมืองตรัง มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวและแตกต่างจากที่อื่นๆ  คือบ่งบอกถึงความเป็นตรัง โดยทั้ง 3 จุด ประกอบด้วย 1.ถ้ำมรกตบนผนังบ้านเลขที่ 17 ตึกชิโนโปรตุกีส ใกล้สี่แยกท่ากลาง ถนนราชดำเนิน 2.เด่นสง่าดอกศรีตรังบนผนังร้านแว่นตาท็อปเจริญ ปากซอยไทรงาม ตรงข้ามกับตึกชิโนฯร้านสิริบรรณ บนถนนราชดำเนิน และ3.ถิ่นกำเนิดยางพารา บนผนังบ้านในซอยไทรงาม ทั้ง 3 จุดอยู่บริเวณใกล้เคียงกันสามารถเดินเท้าเยี่ยมชมได้แบบไม่ทันเหนื่อย

 

มี คุณพรชัย อังศุวิริยะ อดีตนายกสโมสรโรตารีตรัง ในฐานะผู้ริเริ่มและผลักดันโครงการ ตั้งแต่การเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือกับเจ้าของบ้านต่างๆ รวมไปถึงศิลปินอิสระชาวตรัง ผู้เสียสละรังสรรค์ผลงาน ได้แก่ คุณยุทธ-ธีระยุทธ จีนประชา และ คุณแมว-จิรพัฒน์ เกิดดี ซึ่งบรรจงผลิตงานโดยใช้เวลา 3 เดือน ท่ามกลางคนตรังจำนวนไม่น้อย ที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ

 

 

 

 

บรรยายภาพ

-บน : คุณพรชัย อังศุวิริยะ อดีตนายกสโมสรโรตารีตรัง ผู้ริเริ่มและผลักดันโครงการ 

-ซ้าย : คุณแมว-จิรพัฒน์ เกิดดี ศิลปินผู้วาด

-ขวา : คุณยุทธ-ธีระยุทธ จีนประชา ศิลปินผู้วาด

 

 

 

Street Art ดังกล่าวได้ทำพิธีเปิดและส่งมอบให้กับส่วนร่วมไปแล้ว ทั้ง 3 คนจึงพอมีเวลานั่งจิบกาแฟบอกเล่าเรื่องราว

 

@อยากให้เล่าที่มาที่ไป

 

คุณพรชัย-จุดเริ่มต้นของผมในฐานะเป็นนักสถาปนิก มองว่าอยากให้เมืองตรังเป็นเมืองที่มีสุนทรียภาพ และโครงการ Street art ที่มีการวาดภาพฝาหนังในเมืองที่มีชื่อเสียงคือที่เมืองปีนังของมาเลเซีย พวกเราเลยมองว่าเมืองตรังของเราก็มีส่วนคล้ายกับปีนัง เราน่าจะนำมาปรับใช้ได้ ส่วนแนวคิดของภาพเราคิดกันหลายรูปแบบ ว่าจะออกมาเป็นแบบไหนดี ในกลุ่มศิลปินที่ทำงานก็มีการแลกเปลี่ยนกัน จนมาจบที่คำขวัญเมืองตรังที่มีความงดงามและความเป็นตรังอยู่ชัดเจน เราคิดว่าทำอย่างไรให้จินตนาการในคำขวัญออกมาเป็นภาพให้ได้ อย่าง ถิ่นกำเนิดยางพารา นั้นหมายถึงเมืองตรังเป็นสถานที่แรกของประเทศที่นำยางพาราเข้ามาปลูก หรือ เด่นสง่าดอกศรีตรัง เพราะต้นศรีตรังถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง และสุดท้ายคือความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยมีการเลือกเอาถ้ำมรกตที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันซีนระดับโลก

 

@กว่าจะได้พื้นที่ทั้ง3จุดต้องติดต่อประสานงานอย่างไร

 

คุณพรชัย-เนื่องจากโครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกในเมืองตรัง การที่ใครคนหนึ่งจะไปขอวาดภาพบนผนังบ้านคน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะ อาจมองภาพรูปธรรมไม่ออก เราจึงต้องตั้งโจทย์ให้ชัด เขียนแบบร่างออกมาก่อน แล้วนำแบบร่างไปคุยเพื่อขอความอนุเคราะห์  ให้เจ้าของบ้านได้ดูแบบและเรื่องราว ซึ่งทุกบ้านยินดี เรายืนยันกับเจ้าของบ้านทุกแห่งว่า เราทำโครงการนี้เพื่อมอบให้ชาวตรัง ให้ทุกคนได้มาชมความงาม นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยว จึงไม่มีข้อผูกมัดใดๆหากในอนาคตเจ้าของบ้านจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร เพราะในความจริงภาพวาดก็มีอายุที่จะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เมื่อคุยกันจนเกิดความสบายใจ เป็นการเปิดใจคุยกัน เพื่อการทำงานให้กับชุมชน ทุกบ้านจึงยินดี

 

ที่น่าตื้นตันคือ หลังจากวาดภาพทั้ง 3 จุดเสร็จแล้ว มีเจ้าของบ้านท่านอื่นๆมาพบเราและขอให้ไปวาดภาพลักษณะนี้ที่บ้านของเขา จนวันนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 20 หลัง ซึ่งกระจายตัวกันออกไป สะท้อนว่าคนตรังเริ่มรับรู้และเข้าใจ และระหว่างศิลปินกำลังทำงาน ก็มีชาวบ้านมาให้กำลังใจ ซื้อน้ำซื้อข้าวมาฝาก ถือเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมาก

 

เราต้องขอบคุณในความเสียสละมากๆ ผมเชื่อว่าโครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะทุกคนรักเมืองตรังและมีความเสียสละ เจ้าของบ้านและผู้ดูแลทั้ง 3 จุดกรุณามาก ให้ความร่วมมือ สนับสนุน มีความเข้าใจดังคำขวัญ ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี ต้องขอบคุณ จุดที่ 1.ถ้ำมรกตตึกชิโนฯใกล้แยกท่ากลาง โดยความร่วมมือของคุณนัทธ์หทัย สุวรรณสิงห์ คุณนภัสวรรณ ลุกยี และคุณปรียมาส นาคบรรพ์ 2.ต้นศรีตรังผนังร้านแว่นท็อปเจริญของตระกูลร้านขายยา จ.จินฉุ้น คุณประจักษ์ จันทรสกุล ร่วมกับคุณประดิษฐ์ วณิชพันธุ์ และจุดที่3.ถิ่นกำเนิดยางพารา ในซอยไทรงาม ผนังบ้านของโรงพิมพ์ก้องหว้า โดยคุณย้วน วงศ์วิวัฒน์ ถ้าไม่ได้รับความเมตตาจากทุกท่านเหล่านี้โครงการนี้ก็ไม่อาจสำเร็จได้

 

 

@ในอนาคตจะมีการขยายโครงการออกไปอย่างไร

 

คุณพรชัย-ในแง่ของพื้นที่เป้าหมายและความพร้อมไม่น่ามีปัญหา แต่สิ่งที่อยากให้ความสำคัญคือ รูปแบบที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ไม่สะเปะสะปะ ในอนาคตอยากให้ภาพวาดฝาผนังอยู่เป็นโซน เพราะสะดวกต่อการดูแลและการเดินชม ในอนาคตอาจมีการแบ่งเป็นโซนๆ เช่น โซนนี้เป็นแบบวาดแนวนี้ อีกโซนอาจเป็นอีกแบบที่มีเรื่องราวเฉพาะตัวแตกต่างกันไป เมืองจะเกิดความหลากหลาย

 

@อยากให้อธิบายการทำงานของศิลปิน

 

คุณธีระยุทธ-หลังจากที่กำหนดคอนเซ็ปต์ชัดเจนแล้ว เราก็ลงมือทำงาน เราเอาแบบมาขยายรายละเอียดว่าวาดออกมาแล้วจะสื่อสารความรู้สึกแบบไหน เทคนิคที่ใช้ คือ สีอะคลิลิค เริ่มที่เตรียมพื้นที่ บางจุดผนังมีสภาพชำรุดก็ต้องปรับสภาพพื้นผิวก่อน จากนั้นก็รองพื้นด้วยสี แล้วขึ้นร่างตามแบบ ลงสี ลงรายละเอียด เวลาในการทำงานแต่ละจุดเฉลี่ยใช้พอๆกัน แต่ขึ้นกับอุปสรรคทางธรรมชาติในเรื่องของแดดและฝนที่อาจทำให้ทำได้ช้าลง

 

นอกจากแบบหลักแล้ว องค์ประกอบอื่นๆในส่วนย่อยก็ถูกบรรจุลงไปด้วย ตัวอย่างเช่น ภาพเด็ก แมว เราใส่เพิ่มเข้าไปให้มีเรื่องราว ให้ภาพรวมไม่นิ่งจนเกินไป เป็นลูกเล่น อย่างจุดเด่นสง่าดอกศรีตรัง ตอนเรากำลังทำงานมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาเที่ยวเล่น เราก็เลยใส่ภาพของเด็กคนนั้นลงไปเป็นสีสัน จุดยางพาราเราใส่คนที่กำลังกรีดยางทำยางเข้าไปด้วย เพื่อให้ภาพสมบูรณ์ขึ้น ที่สำคัญคือต้องออกแบบให้คนจริงๆมาถ่ายรูปเชิงทำกิจกรรมร่วมกับภาพได้ ต้นยางพาราต้นด้านหน้าจึงต้องลอยหลุดออกมาเด่น เพื่อให้คนไปแสดงท่ากรีดยางแล้วถ่ายรูปได้ มีจอกยาง มีจักรรีดยางที่ทำท่าหมุนได้  

 

 

@ความประทับใจในการทำงานตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา

 

คุณธีระยุทธ-มีความประทับใจเยอะมาก จากวันแรกๆที่เรามาทำงานกัน 2-3 คน แต่วันต่อๆไปเริ่มมีชาวบ้านซื้อน้ำมาฝาก  มีคนมาดูมาให้กำลังใจ ตอนลงมือวาดใหม่ๆหลายคนงงว่าพวกนี้มาทำอะไรกัน(หัวเราะ) แต่โชคดีที่มีคุณพรชัยอยู่ตลอดและทำหน้าที่อธิบาย พอคนเริ่มเข้าใจก็เริ่มมาให้กำลังใจกันเยอะ

 

คุณจิรพัฒน์-ผมมีความประทับใจที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ เพราะเราเริ่มต้นจากสิ่งที่เมืองตรังเรามีอยู่แล้ว เรื่องราวเรามีอยู่แล้ว ตึกเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่นำเสนอให้เป็นสิ่งใหม่ๆขึ้นมา นอกจากนี้ในแง่ของความรู้สึกผมยกตัวอย่างเช่น ภาพสวนยางพารานี้ได้สะท้อนความเป็นตรังและความเป็นท้องถิ่นปักษ์ใต้ แม้กระทั่งผมเองก็เป็นลูกชาวสวน เติบโตมากับสวนยาง มันเป็นจิตวิญญาณ ทำให้ผมวาดได้อย่างมีความสุข  

 

 

@ในอนาคตมีภาพวาดผนังในตรังแนวไหนอีกที่อยากวาด

 

คุณธีระยุทธ-ผมอยากวาดปลาพะยูนนะ ให้พะยูนมีชีวิตท่ามกลางท้องทะเล ให้คนรู้สึกว่าตัวเองอยู่ใต้ทะเลด้วย เพราะพะยูนคือตรัง

 

คุณจิรพัฒน์-ผมอยากวาดภาพชายแก่กับรถสามล้อหรือตุ๊กๆหัวกบเมืองตรัง เพราะมันสะท้อนถึงชีวิต ความรู้สึก ผมเคยไปถ่ายรูปเหล่านั้นอยู่บ่อยๆ เป็นภาพของชายแก่สูบใบจาก กับรถตุ๊กๆที่ขับมาทั้งชีวิต มันสื่อสารถึงความเป็นตรัง และสื่อสารอารมณ์หลากมิติ เพราะบางวันชายแก่ก็ต้องรอคอยผู้โดยสาร วันไหนผู้โดยสารมากก็ได้มาก แต่บางวันก็ได้น้อย มันคือการรอคอย คืออาชีพ คือหน้าที่ คือชีวิตของเมืองตรัง ถ้ามีโอกาสในอนาคตผมก็อยากวาดภาพนี้ ท่ามกลางยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีความเป็นจริงในส่วนนี้อยู่

 

 

@ในฐานะผู้สร้างผลงาน อยากฝากงานที่ทำไว้นี้กับคนตรังอย่างไร

 

คุณธีระยุทธ-ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ผมว่าเดี๋ยวมันก็จะเกิดขึ้น แต่เรื่องการรักษาผมเชื่อว่าเมื่อผู้คนรับรู้เข้าใจในสิ่งนี้แล้ว การช่วยกันดูแลรักษาจะค่อยๆเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะเรื่องของน้ำใจของผู้ใช้รถ ที่เสียสละไม่จอดรถบดบังตัวภาพให้คนชมและถ่ายรูปได้สะดวก จริงอยู่ที่ในระยะแรกอาจมีปัญหาตรงนี้บ้าง แต่ถ้าคนเข้าใจมากขึ้นคนจะรู้ว่าภาพวาดเหล่านี้มันทำหน้าที่ของมันอยู่ มันไม่ได้เป็นผนังเปล่าๆเหมือนก่อนแล้ว คนก็จะช่วยกันรักษา

 

คุณพรชัย-สิ่งๆนี้อาจจะเป็นสิ่งใหม่ในบ้านเรา ผมก็เฝ้ารอให้สังคมเกิดการเรียนรู้ เราจะไม่ทำแล้วใช้การตีเส้นขาวแดงห้ามจอดรถ หรือห้ามแตะต้องนั่นนี่ แต่อยากให้ชุมชนเริ่มต้นหวงแหนก่อน ในวันส่งมอบเราก็เชิญชุมชนมาร่วมรับมอบเพราะทุกคนคือเจ้าของร่วมกัน ในอนาคตคนตรังทุกคนจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาช่วยกันรักษาภาพเหล่านี้เอง

 

เมืองตรังเรายังมีศักยภาพ ในย่านเมืองเก่า เรายังมีพื้นที่ มีตึก มีฝาผนังที่สามารถทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวได้อีกมาก ก็อยากฝากว่าแม้เราจะเป็นคนริเริ่ม แต่เราไม่ใช่เจ้าของหรือผูกขาดแนวคิด เราจะยินดีมากกับภาพของหน่วยงาน เอกชน ประชาชนช่วยกันร่วมมือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้กับเมืองเรา ต่อไปถ้ามีการรวมตัวกันวางแผนเป็นระบบภาพเหล่านี้ก็วาดเพิ่มได้อีกและทุกคนมาช่วยกัน ทุกคนเป็นเจ้าของ...

 

ชมภาพเพิ่มเติม

 

 

....................................................................................................................................................

 

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

....................................................................................................................................................