จากลูกแม่ค้า สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

เด็กชายชวน หลีกภัย ในวันวาน แม้จะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่พวกเราพี่น้องชอบเที่ยวเล่น แล้วสมัยก่อนเที่ยวเล่นไม่ต้องเสียเงิน ของเล่นเราคือฉับโผง กับ ว่ายน้ำคลอง ส่วนใหญ่ก็คลองน้ำเจ็ด ตอนนั้นน้ำยังใส พี่น้องว่ายน้ำเป็นในคลองนั้นทั้งหมด

 

 

จากลูกแม่ค้า สู่เก้าอี้นายกฯ “เด็กชายชวน หลีกภัย” ในวันวาน

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday

 

แม้จะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่พวกเราพี่น้องชอบเที่ยวเล่น แล้วสมัยก่อนเที่ยวเล่นไม่ต้องเสียเงิน ของเล่นเราคือฉับโผง กับ ว่ายน้ำคลอง ส่วนใหญ่ก็คลองน้ำเจ็ด ตอนนั้นน้ำยังใส พี่น้องว่ายน้ำเป็นในคลองนั้นทั้งหมด

 

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยเลือดเนื้อเชื้อไขเมืองตรัง คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก จากเด็กจนโต การเดินทางอันยาวไกล จากเด็กบ้านนอกสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศฝ่าวิกฤตมาสองสมัยและบทบาทในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ได้ถูกยอมรับในเรื่องความสมถะ ซื่อสัตย์ และพอเพียง เป็นปูชนียะบุคคลที่ทั้งคนตรังและคนจากทั่วประเทศเลื่อมใสศรัทธา ที่ศาลาเล็กของบ้านวิเศษกุลที่หลายคนมักแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน กองบรรณาธิการ www.addtrang.com ได้รับเกียรติจากท่านนั่งฉายภาพความทรงจำเกี่ยวกับ “เมืองทับเที่ยง” หรือ “เมืองตรัง” แบบฟังเพลินนานกว่า 5 ชั่วโมง

 

โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กจนเติบใหญ่ และ ประสบความสำเร็จ อย่างเต็มอิ่ม ซึ่งหลายๆเรื่องไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน แต่ถูกบอกเล่าและถ่ายทอดไว้ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

 

-ภาพความทรงจำเกี่ยวกับเมืองทับเที่ยงของท่านเป็นอย่างไร

 

สมัยผมยังเด็กมีคำที่คนยุคนั้นใช้เรียกกัน เช่น คนซื้อยาง เขาเรียก จีนซื้อยาง สมัยก่อนจะมีคนปั่นจักรยานที่มีอานบรรทุกเข้าไปรับซื้อยางตามหมู่บ้านเอามาขายในตลาดซึ่งมักจะเป็นคนจีน สมัยก่อนคนจีนมักทำอาชีพค้าขาย เช่น จีนขายผัก ยังจำได้ว่าตอนญี่ปุ่นขึ้นเมืองยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีมาอยู่ที่โรงเรียนสภาราชินี มีหลุมหลบภัยอยู่บนเนินตรงวัดควนวิเศษ ตอนเด็กๆพวกเราก็ไปเล่นแถวนั้น ยืนมองรถไฟแล่นผ่านจากบนเนิน พวกเราพี่น้องจะเดินผ่านเส้นทางนั้นเพื่อไปบ้านเดิมของพ่อแม่ที่บางรัก

 

ผมมีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เท่าที่จำความได้เกี่ยวกับครอบครัว ชาวบ้านในยุคนั้นปลูกผลไม้กันมาก บางรักมีสวนเงาะ มังคุด ลางสาด ทุเรียน คนจะไม่ปลูกอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ จะปลูกผสมกัน ทางใต้เรียกว่า สวนสมรม ครอบครัวเรามีสวนอยู่ที่บางรักด้วย แล้วก็มีสวนหลังวัดควนวิเศษ สวนในบ้านและหลังบ้านวิเศษกุลไปชนถนนรัษฎาที่ยังเป็นถนนลูกรังเล็กๆ ที่ตั้งสนามกีฬาเดิมก็เป็นป่าพรุ เรียกท้ายพรุ หน้าน้ำมีน้ำขังคล้ายทะเลสาบเล็กๆ มีคนมาวิดปลา  ทับเที่ยงตอนผมเด็กๆแถวบ้านวิเศษกุลยังเปลี่ยวมีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง ส่วนในตลาดทับเที่ยงนั้นมีความคึกคักมานานแล้ว คนสมัยนั้นมักพูดกันว่าตลาดทับเที่ยงคึกคักมาก แม่ผมก็ขายของมีแผงในตลาดทับเที่ยง ตอนเด็กๆเราต้องช่วยขนของให้แม่ไปขาย

 

 

-อยากให้ลองเล่าความทรงจำเกี่ยวกับครอบครัว

 

สภาพครอบครัวเรามีลูกมาก เด็กๆเราอยากเล่นสนุกมากกว่า แต่เราก็ต้องแบ่งเวรกันช่วยพ่อแม่ทำงาน เริ่มที่แม่กับพ่อต้องกรีดยางแต่หัวรุ่ง ตื่นตั้งแต่ตีหนึ่ง เพราะต้องเดินไปกรีดยาง ทั้งสวนหลังบ้าน หลังวัดควนวิเศษ และบางรัก แม่เดินไปกรีดแต่ละแห่งไกลมาก พ่อกับแม่จะกรีดยาง ส่วนลูกๆทั้งหมดก็ช่วยเทยาง แน่นอนราคายังก็ไม่แน่นอน ในยุคหนึ่งที่ยางพุ่งถึงกิโลกรัมละ 20 บาท เทียบกับรำวงรอบละ 5 บาทสมันนั้น ข้าวของราคายังเป็นสตางค์อยู่ เรื่องการทำมาหากิน ความขยันอดทนต้องยกให้แม่ แม่ทำงานตลอด พักผ่อนน้อยมาก พ่อก็เช่นกัน พ่อเป็นครูหลังจากสอนหนังสือเสร็จตอนเย็นพ่อต้องไปบางรัก ไปแบกหยวก ฝานหยวกตำหยวกเพื่อเลี้ยงหมูขี้พร้า ในบันทึกของแหม่มเอ็ดน่าฯ มิชชันนารีอเมริกันที่ใช้ชีวิตอยู่ตรังเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ยังเคยบันทึกไว้ว่าหมูเมืองตรังเลี้ยงดีเลี้ยงสะอาดมาก แสดงว่าสมัยนั้นหมูเมืองตรังหรือหมูขี้พร้าหลังแอ่นคุณภาพดี นอกจากนี้ในบ้านพ่อยังปลูกผักกินได้อีกหลายอย่าง

 

-แล้วความทรงจำในฐานะลูกแม่ค้าเป็นอย่างไร

 

แม่เริ่มขายของเพราะต้องหารายได้เสริม กรีดยางอย่างเดียวไม่พอเลี้ยงลูก แม่เริ่มทำขนม ผมจำได้ว่าทำขนมค่อม(ขนมไส่ไส้) ตอนนั้นสนามชนวัวอยู่ตรงสถานีดับเพลิงถนนวิเศษกุล แม่ก็ทำขนมค่อมขายพวกมาชนวัว เราพูดติดตลกกันว่า ขนมค่อมเป็นขนมคนจน เพราะใครที่ชนวัวชนะจะซื้อแตงโมกลับบ้าน แต่ถ้าแพ้จะซื้อขนมค่อมกลับบ้าน เพราะขนมค่อมพวงละบาทเดียวมี ๘-๑๐ ห่อ  จำได้เพราะบ้านไหนลูกไม่ดกทำขนค่อมไม่ได้ ทุกอย่างเราต้องทำเอง ต้องมีครกบดแป้ง ทั้งแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว มะพร้าวที่ทำไส้ก็ต้องเอามะพร้าวลูกมาปอก ขูด ปั้นกะทิ เอากากมาผัดกับน้ำตาลทรายแดง ปั้นไส้ กวนแป้ง นึ่งให้สุก เราต้องแบ่งทีมกัน ระหว่างที่อีกทีมทำไส้กับแป้งอีกทีมจะไปหาใบตอง ต้องใช้ใบตองตานี แบ่งทีมเจียนใบตอง เหลาไม้กลัด กระบวนการทั้งหมดนี้ ลูกไม่ดกทำไม่ได้      

 

นักเลงชนวัวสมัยก่อนผมจำได้ ผมเกิดปีขาล คนโบราณมีความเชื่อว่าให้คนเกิดปีขาลหรือปีเสือชี้ว่าวัวตัวไหนแพ้หรือชนะจะถูก เกือบทุกสัปดาห์พวกนักเลงชนวัวจะมาถาม ถ้าผมชี้ถูกเขาก็เอาของมาฝาก วัวชนดังสุดสมัยนั้นชื่อ ไอ้หัวกั่วบางรัก แล้วก็ ขาวเทวา

 

 

-การต้องช่วยพ่อแม่ทำงานทำให้ชีวิตวัยเด็กขาดหายไปหรือไม่

 

แม้จะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่พวกเราพี่น้องชอบเที่ยวเล่น แล้วสมัยก่อนเที่ยวเล่นไม่ต้องเสียเงิน ของเล่นเราคือฉับโผง กับ ว่ายน้ำคลอง ส่วนใหญ่ก็คลองน้ำเจ็ดตอนนั้นน้ำยังใส พี่น้องว่ายน้ำเป็นในคลองนั้นทั้งหมด มีครั้งหนึ่งที่จำได้ไม่ลืมคือ เราที่โตแล้วต้องช่วยแม่เลี้ยงน้อง ถ้าจะไปเที่ยวก็ต้องพาน้องไปเลี้ยงด้วย ก็อุ้มกันไปว่ายน้ำคลอง ไปถึงก็วางน้องไว้บนตลิ่ง ผมก็ลงไปเล่นน้ำ เล่นน้ำเพลิน หันไปดูไม่เห็นน้องแล้ว โชคดีที่ไปช่วยขึ้นมาทัน แต่ก็กินน้ำไปหลายอึก ผมใจแป้วมากๆ ตอนแรกไม่กล้าบอกแม่ กลับไปบ้านนอนละเมอถึงน้อง แม่ถามเลยยอมสารภาพ

 

-หลายคนบอกว่าครอบครัวของคนทับเที่ยงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา จริงหรือไม่

 

จริง อย่างเรื่องการศึกษาของพวกเราอาศัยความที่พ่อเป็นครูทำให้เราได้เรียน ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วครอบครัวที่ลูกดกขนาดนี้ โอกาสจะเรียนนั้นยาก แต่พ่อคิดว่าคงไม่มีทางอื่นนอกจากให้ลูกได้เรียนหนังสือ จะมีก็คือพี่ชายคนที่สองที่เสียสละไม่เรียนเพื่อช่วยแม่ทำงานส่งเสียน้องๆได้เรียน ชีวิตผมเริ่มเรียนชั้นประถมที่วัดควนวิเศษ พอเรียนจบก็หยุด ๒ ปีเพื่อเตรียมไปเรียนที่ปีนัง สมัยนั้นคนมีเงินในตลาดจะส่งลูกไปเรียนปีนัง แต่เราทำไม่ได้เพราะหาเงินไม่ได้ ผมก็กลับมาเรียนมัธยมที่วัดควนวิเศษอีกครั้ง ตอนนั้นอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ผมเอาโต๊ะเรียนไปเอง ส่วนเพื่อนอีกคนก็เอาเก้าอี้ยาวมาเผื่อ เรานั่งเรียนด้วยกัน เรียนไปได้เทอมหนึ่ง โรงเรียนตรังวิทยาเปิดพอดี ก็ย้ายไปเรียนที่ตรังวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนของพ่อค้ามีนายมั่น สินไชย เป็นเจ้าของ ได้เข้ารุ่นแรก ตรังวิทยาขยายตัวเร็ว นักเรียนเก่งแต่ละด้านมาก ทั้งการเรียน กีฬา ลูกหลานคนในตลาดส่งลูกไปเรียนมาก บางคนลาออกจากวิเชียรมาตุมาเข้าตรังวิทยาก็มี

 

แต่สมัยนั้นที่เสียดายมากคือโรงเรียนยุวราษฎร์ กับโรงเรียนอนุกูลที่ปิดตัวไป ตอนเรียนที่ตรังวิทยาผมจำได้ว่า คุณสงวน เอี้ยวฉาย ตอนนั้นเขาสีไวโอลิน เขาชวนผมเข้าไปเล่นดนตรีในวงดนตรีสมัครเล่นในความอุปถัมป์ของสมาคมฮกเกี้ยน ผมก็เริ่มเล่นดนตรีด้วยการตีกลองบองโก้ เล่นเพลงละตินอเมริกัน ทั้งจังหวัดตรังวงของสมาคมฮกเกี้ยนได้มาตรฐานที่สุดและดังในระดับภาคใต้ ตอนหลังคุณสงวนก็ให้ผมหัดเป่าแซ็กโซโฟนจนเริ่มเป่าได้ ไปหัดเป่าในสวนยางหลังบ้านจนเป็นเพราะเสียงดังรบกวนคนอื่น

 

 

-อยากทราบเรื่องเกี่ยวกับการวาดรูป ที่มาเป็นอย่างไร

 

คนไม่ค่อยรู้ว่าผมเคยเขียนป้ายโรงหนังมาก่อน ตอนกลางวันผมเรียนหนังสือ แต่เลิกเรียนพอกลางคืนผมจะไปเขียนป้ายโรงหนัง เป็นโรงหนังเล็กๆหลังถนนพระรามหกฉายหนังเร่ คือไม่ใช่โรงหลัก แต่จะฉายหนังที่ลาจากโรงหลักมาแล้ว เริ่มที่ผมชอบไปดูเขาเขียนป้ายจนรู้จักกัน เขาก็ให้เราไปช่วย ผมจะเขียนข้อความโฆษณาหนังเป็นหลัก และได้พาน้องๆไปดูหนังฟรีได้ ส่วนความสามารถเกี่ยวกับศิลปะ ย้อนกลับไปน่าจะเริ่มในช่วงชั้นประถม ตอนเรียนวิชาวาดเขียนผมค่อนข้างได้คะแนนดี และเคยประกวดระดับจังหวัดที่ศาลากลาง ผมเขียนรูปต้นไม้ที่มีคนรดน้ำ แล้วบรรยายว่า “ประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ก็ได้รางวัลประเภทความคิด เขาคงมองว่าเด็กคนนี้มันมีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย

 

-จบจากที่ตรังแล้วไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ คือจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างไร

 

เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะยังไม่มีเรื่องของการแนะแนว พ่อแม่ก็ไม่ได้คาดคั้นว่าเราจะเป็นอะไร ได้มีโอกาสเรียนหนังสือก็โชคดีมากแล้ว ตอนผมไปเรียนกรุงเทพฯ ผมสอบชิงทุนของจังหวัดไปได้เรียนครูศิลปะ ๓ ปีที่วิทยาลัยเพาะช่าง กำลังจะไปเรียน แต่ดันไปเจอหนังสือสยามนิกรรายวันประกาศว่า มีโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดสอบ ผมก็ไปสมัครสอบ ได้ไปเดินดูโรงเรียนเตรียมศิลปากร ไปเห็นภาพวาดสวยมาก ตอนแรกคิดว่าเป็นภาพที่อาจารย์วาดไว้ แต่ที่ไหนได้เป็นของพวกนักเรียนที่ต้องมาสอบแข่งกับเรา แต่ก็สอบได้เพราะได้คะแนนวิชาสามัญช่วย ก็สละทุนที่เพาะช่าง ไปเรียนเตรียมศิลปากรรุ่น ๖ แต่ก็มีข้อจำกัดว่าคนที่จบเตรียมศิลปากรจบแล้วสอบต่อได้แค่มหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น แล้วระหว่างที่เรียนอยู่ที่เตรียมศิลปากร ผมพบว่าเพื่อนๆต่างก็เป็นหัวกะทิจากหลายๆที่ในเรื่องศิลปะ ผมก็ต้องหัดเขียนรูปอย่างหนัก ตอนเรียนก็ไปขออยู่ที่วัดวัดอมรินทราราม วรวิหาร หรือวัดบางหว้าน้อย แล้วโชคดีที่ตอนนั้นมีลูกสาวของพล.อ.หลวงสุทธิสารรณกรรองผบ.ทบ.ในขณะนั้นเรียนอยู่ด้วย ท่านได้สั่งให้ครูจากโรงเรียนนายร้อยมาสอนผมเลยมีโอกาสได้เรียนกับครูที่เก่งมากในยุคนั้น

 

จนวันหนึ่งมีครูทหารท่านหนึ่งเรียกผมไปคุยท่านบอกว่า ชวนครูเสียดายเธอมาก เธอเก่งวิชาสามัญไม่น่ามาเรียนศิลปะ และก็จริงพอผมจบเตรียมปีที่ ๑ ผมก็สอบเข้าคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในปี ๒๕๐๑ พ่อดีใจมาก ซึ่งในสมัยนั้นระบบงานทะเบียนยังไม่ละเอียด ผมสามารถเรียนพร้อมกันทั้ง ๒ มหาวิทยาลัยได้ แต่ด้วยความซื่อแบบเด็กบ้านนอก ก็ไม่สอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรต่อ แล้วไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ และก็มุ่งมั่นเรียนหนักมาก เดินจากวัดแล้วข้ามท่ามาเรียน

 

 

-ถือว่าได้ซึมซับการเมืองในยุคเรียนธรรมศาสตร์

 

ในยุคที่ผมเรียนนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ บรรยากาศบ้านเมืองยังอยู่ในยุคทหาร โดยส่วนตัวผมสนใจเรื่องการเมืองมาก เพราะเราซึมซับมาแต่เล็ก ชอบฟังคนคุยเรื่องการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร ผมเป็นนักศึกษาชายคนแรกที่มีการเชิญธรรมจักรในฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองตลอด ทั้งเขียนบทงิ้วธรรมศาสตร์ โขนธรรมศาสตร์ ตอนนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดี ส่วนจอมพลประภาส จารุเสถียร ดูแลจุฬาฯ นักศึกษาสมัยนั้นจะร้องเพลงลามะลิลาในฟุตบอลประเพณีว่า ถนอมอยู่ธรรมศาสตร์ ถนอมอยู่ธรรมศาสตร์ แต่ประภาสนั้นอยู่จุฬาฯ ความรู้สึกของคนธรรมศาสตร์สมัยนั้นก็อึดอัด เพราะหลายคนถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยจากการกระทำทางประชาธิปไตย ดังนั้น เวลาเราทำกิจกรรมหรือแสดงอะไรเราต้องไม่เปิดเผยชื่อ มีการขอตรวจบทละครตลอด แต่เราก็หาทางหนีรอด ตอนเล่นละครปีสุดท้ายทางการมาสืบว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง จำได้ว่าตอนรับปริญญาพวกนายทหารใหญ่มากันครบ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ นายกฯก็มา

 

-ทุกวันนี้มองเมืองตรังอย่างไร

 

ตรังเป็นเมืองฝั่งอันดามัน มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น แต่เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูมิศาสตร์ติดทะเล มีแม่น้ำลำธาร มีภูเขา มีน้ำตก มีสภาพธรรมชาติที่สวยงามเป็นพื้นฐาน เรามีลักษณะพิเศษคือเป็นชุมชนที่มีทั้งคนไทย จีน มุสลิม อยู่ร่วมกัน แต่ตั้งแต่ดั้งเดิมถึงปัจจุบันไม่มีปัญหาแตกแยก ผมขออ้างบันทึกของแหม่มเอ็ดน่าฯข้อความตอนหนึ่งที่ผมมักเล่าให้ผู้ว่าฯและผู้บริหารในตรังฟัง คือ “ในความคิดของฉัน ตรังเป็นจังหวัดที่สวยที่สุดในสยาม’’ แสดงให้เห็นว่าเมื่อ๑๐๐กว่าปีที่แล้ว ตรังมีภูมิประเทศสวยงามมาก และปัจจุบันก็ยังสวยงามอยู่ ต้องถือว่าตรัง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่สามารถรักษาสภาพธรรมชาติไว้ได้มากที่สุดจังหวัดหนึ่ง  ด้านการคมนาคมตรังถือว่าพิเศษที่สุดในฝั่งอันดามัน เพราะเป็นจังหวัดเดียวที่มีทางรถไฟเข้าถึงที่อำเภอกันตัง สำหรับเมืองตรัง การพัฒนาในช่วง ๑๐-๒๐ ปีมานี้ เป็นช่วงสำคัญของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งน่าเสียดายที่แผนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในระยะดังกล่าวไม่มีตรังอยู่ในแผนเลย  ผมก็ต้องเข้าไปคุยกับผู้เกี่ยวข้องใหม่ แล้วมีการค่อยๆปรับ  

 

วันนี้สิ่งที่เราพยายามทำซึ่งตรงกับแนวคิดของคนในอดีตคือเรื่องการศึกษา เราจำเป็นต้องเร่งรัดผลิตบุคลากรในสาขาต่างๆ ขึ้นมา  เมืองตรังเป็นเมืองของการศึกษา เด็กส่วนใหญ่เรียนอยู่ในเกณฑ์ดี ในวันนี้เราได้นำสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามามากขึ้น มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มีสาขานอกสถานที่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีสถาบันการศึกษาระดับปริญญาอื่นๆ เช่น วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วิทยาลัยพละ เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญของลูกหลานเรา

 

 

-ทุกวันนี้ที่บ้านวิเศษกุลมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนมาก รู้สึกเหน็ดเหนื่อยบ้างไหม

 

มันเหมือนกับเราได้ตัดสินใจไปแล้ว ทุกวันนี้คนที่มาหาเหมือนกับคนมาร้องทุกข์ ถ้าคนที่ไม่ชอบงานแบบนี้จะมองเป็นภาระ มีผู้แทนบางท่านเคยมาสารภาพว่ารับไม่ไหวมีคนมาหามาเรียกร้องมาก ต่ำสำหรับผม บ้านผมเปิดเต็มที่มานานแล้ว เพราะผมตัดสินใจสมัครผู้แทนเพราะตั้งใจไว้แล้วว่า ต้องรับในสิ่งเหล่านี้ อันที่จริงแล้วคนที่มาหาเราเขาก็เหนื่อย  ทุกคนล้วนแต่มาดี คนที่มาร้องทุกข์เพราะเขาเห็นเราเป็นที่พึ่ง อย่ามองเขาเป็นภาระ อะไรที่เราทำได้เราก็ทำ อะไรที่ทำให้ไม่ได้ก็บอกเขาตรงๆ เมื่อคิดได้แบบนี้เราจะไม่เหนื่อยหน่ายและเบื่อ

 

หลายคนเห็นผมทำงานก็ห่วงเรื่องสุขภาพ จริงๆคนที่ใกล้ชิดผมจะรู้ว่าผมเป็นคนออกกำลังกาย แต่คนทั่วไปจะเห็นข่าวเวลาผมเข้าโรงพยาบาล มันเป็นปกติตามวัย คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ผมคำนึงถึงเรื่องสุขภาพตลอด คุณหมออรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ แนะนำผมตลอดว่า ยาที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย และผมก็ปฏิบัติมาตลอดทั้งที่กรุงเทพฯและที่ตรัง ผมโหนบาร์มานานแล้ว วิ่งบ้าง ตอนหลังก็ปั่นจักรยาน ที่สำคัญคือ อย่าตามใจปากให้มาก ผมอยู่เมืองหมูย่างแต่ต้องเลือกกิน ชิ้นที่ติดมันมาก็ไม่กิน เมืองตรังเป็นเมืองของกิน ดังนั้นถ้ากินไม่ระวังก็เป็นโรคมาก

 

ชื่อ “ชวน หลีกภัย” กับ “เมืองทับเที่ยง” ในวันนี้ ได้พิสูจน์มาแล้วอย่างช้านาน ดังข้อความจำนวนมากที่ถูกบันทึกไว้ในสมุดเยี่ยม จากปลายปากกาของอาคันตุกะไม่ว่าใกล้ไกล ที่มาด้วยความตั้งใจ ความเชื่อถือศรัทธา ดังคำว่า หากมาตรังแล้ว ไม่มาบ้านนายชวน แสดงว่ายังมาไม่ถึงตรัง

........

 

หมายเหตุ : เป็นบทสัมภาษณ์ คุณชวน หลีกภัย ในโอกาส 100 ปีของการย้ายเมืองตรัง จากกันตัง มาทับเที่ยง ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก "100ปีเมืองทับเที่ยง" จำหน่ายโดยเทศบาลนครตรัง รายได้จากการจัดจำหน่ายทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อจัดตั้ง "กองทุนสวัสดิการเด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครตรัง" ผู้สนใจหาซื้อได้ที่สำนักงานเทศบาลนครตรัง โทร 0-75218-017 

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................