ทับเที่ยง กับ จิระนันท์ พิตรปรีชา

“บ้านที่ตรังมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะเราในเรื่องความคิดโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ไปจนถึงวรรณกรรม  ที่บ้านคือร้านสิริบรรณ เป็นทั้งร้านขายหนังสือ เครื่องเขียน และที่พักอาศัย เลิกเรียนมาเราก็ต้องมาช่วยขายของ ความที่บ้านเป็นร้านหนังสือ เราจึงได้อ่านเยอะมาก ทั้งหมดคือ "ความรักในความรู้" ที่บ้านที่ตรังสอนเรา จนเราได้มาตรงนี้”

 

“ทับเที่ยง” ในความทรงจำ “จิระนันท์ พิตรปรีชา”

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday

 

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “คุณจี๊ด-จิระนันท์ พิตรปรีชา” หลายคนคงรู้จักในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะนักกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์จากกวีนิพนธ์เรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” นักเขียน นักแปล นักกิจกรรมสาธารณะตัวยง หรือในนามมารดาของหนุ่มฮอต “แทนไท ประเสริฐกุล” และ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล”

         

แต่สำหรับ “คนตรัง” ล้วนภาคภูมิใจในผลิตผลลูกหลานชาวตรังคนนี้ จากเด็กผู้หญิงต่างจังหวัด ลูกสาวร้านขายหนังสือและเครื่องเขียน “ร้านสิริบรรณ” ร้านเก่าแก่ริม “ถนนราชดำเนิน” ภายในตัวเมือง “ทับเที่ยง” ซึ่งกำลังย่างเข้าปีที่ 100 ของการย้ายเมืองจาก "กันตัง" มา "ทับเที่ยง" ในปี 2559 นี้

 

ในวัยเด็กของ "คุณจิระนันท์" ผ่านการปลูกฝังที่ดีจากทั้งคุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัว ให้รักการอ่าน หาความรู้ ทำกิจกรรม โดยเฉพาะการช่วยครอบครัวทำงาน นั่นคือหลังเลิกเรียน “เด็กหญิงจิระนันท์” ต้องมีหน้าที่ช่วยที่บ้านขายของ ทำให้เธอต้องพบปะผู้คน

         

สำคัญไปกว่านั้นคือ “หนังสือ” เมื่อเป็นร้านหนังสือ ทำให้เธอได้สัมผัสการอ่านอย่างจริงจังมาตั้งแต่วัยประถม

 

"คุณจิระนันท์" เป็นคนอัธยาศัยดีและมีเมตตา เมื่อมีโอกาสสนทนากับ www.addtrang.com เกี่ยวกับประเด็น "100ปีเมืองทับเที่ยง" เธอจึงมีโอกาสเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ฟังอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

         

“ที่ร้านสิริบรรณ คุณตาเป็นคนสร้างเอง เราเกิดมาก็มีร้านแล้ว ที่ที่เราอยู่เป็นทั้งร้าน และที่อยู่อาศัย เป็นห้องแถวทรงยาว มีบ่อน้ำกลางบ้าน สมัยเด็กที่ถนนไทรงามคือซอยข้างๆร้านยังเป็นถนนดินแดง มีคูน้ำเต็มไปด้วยตะไคร่ มีลูกอ๊อดในคูน้ำ สองข้างทางยังเป็นที่สวน เราก็ไปวิ่งเล่นอยู่แถวนั้น ยางไปจนถึงโรงรับจำนำส่วนใหญ่เป็นที่ดินของตระกูลไทรงาม สมัยนั้นไม่วิ่งเล่นเราก็ขี่จักรยาน”  “คุณจิระนันท์” บรรยายความทรงจำในวัยเด็กด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม

         

ในความทรงจำของ “คุณจิระนันท์” ในยุคที่ “เมืองตรัง” ยังห่างไกลความเจริญ แต่เธอบอกว่าผู้คนกลับมีความสนใจในข้อมูลข่าวสาร และการอ่านหนังสือ เธอจำได้ว่า ทุกๆเดือน จะมีทนายคนหนึ่งสั่งนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาอังกฤษ ให้ทางร้านหามาให้เป็นประจำ ไม่รวมหนังสือแปลกๆและหายากอื่นๆ ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างมาก สำหรับ “โลกการอ่าน” ของ “คนตรัง” แน่นอนสินค้าต่างๆโดยเฉพาะเครื่องเขียนและหนังสือ ถูกส่งมาได้เพียงช่องทางเดียวคือ “ทางรถไฟ” และการเดินทางของผู้คนไปยังกรุงเทพฯก็เช่นกัน

         

“จำได้ว่าเราขึ้นกรุงเทพฯครั้งแรกในชีวิตตอน ป.5 ตอนนั้นรถไฟยังใช้ถ่าน เป็นรถจักรไอน้ำ ควันโขมง จากตรังถึงกรุงเทพฯใช้เวลาเดินทางราว 24 ชั่วโมง ที่สถานีหัวลำโพงขึงต้องมีห้องให้ผู้โดยสารอาบน้ำ เพราะการเดินทางและอีกหลายๆอย่างไม่ใช่เรื่อง่ายในสมัยนั้น คุณยายจึงมักพูดอย่างภูมิใจเสมอๆว่า ดีใจที่สามารถกล้าส่งลูกหลานไปเรียนกรุงเทพฯได้”

         

ยังมีอีกหลาย “ความทรงจำ” ของ “คุณจิระนันท์” บนถนนราชดำเนิน “เมืองทับเที่ยง” ที่เจ้าตัวบอกเล่าได้ไม่หมด แต่ส่วนสำคัญ คือ ต้นทุนจากความคิด ชีวิต และ ตัวตน ที่เธอได้จากเมืองเล็กๆแห่งนี้ มีค่ามากสำหรับชีวิตในวันนี้ของเธอ

         

“บ้านที่ตรังมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะเราในเรื่องความคิดโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ไปจนถึงวรรณกรรม ที่บ้านคือร้านสิริบรรณ เป็นทั้งร้านขายหนังสือ เครื่องเขียน และที่พักอาศัย เลิกเรียนมาเราก็ต้องมาช่วยขายของ ความที่บ้านเป็นร้านหนังสือ เราจึงได้อ่านเยอะมากมาตั้งแต่ยังไม่เข้ามศ.1 เราเลือกอ่านหนังสือปกแข็ง ชอบหยิบวรรณกรรมแปลมาอ่าน ไปจนถึงแนวประวัติศาสตร์ อย่างพระราชนิพนธ์ร.6 พงศาวดารจีน และที่จดจำได้แม่นคือตั้งแต่ยังเล็กๆ ก่อนนอนคุณยายจะอ่านรามเกียรติ์เป็นตอนๆให้ฟังก่อนนอน แล้วคุณยายก็ชอบพาไปดูหนัง ทั้งที่วิกคิงส์ ศรีเมือง เฉลิมตรัง ฯลฯ หนังหลายเรื่องพอเราโตมาเราถึงรู้ว่ามีเค้าโครงมาจากวรรณกรรมนั่นเอง”

         

“เมื่ออ่านมาก็เริ่มอยากเป็นนักเขียน ตอนนั้นคุณแม่ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อโอลิมเปียให้ เราก็หัดเขียน หัดพิมพ์ เริ่มที่กวีนิพนธ์ ตอนมศ.2ก็ไปขอครูทำวารสาร เอาบทกวีมาลง ได้เป็นบรรณาธิการครั้งแรกในชีวิต พอเขียนบทกวีได ครูเห็นแววเลยให้ส่งบทกวีไปลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนัง “หนังสือพิมพ์เสียงราษฎร์” ของ “คุณสุรินทร์ มาศดิตถ์” ทั้งหมดคือ "ความรักในความรู้" ที่บ้านที่ตรังสอนเรา จนเราได้มาตรงนี้”

         

เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในลิ้นชัก “ความทรงจำ” ของ “กวีซีไรต์ชาวตรัง” ที่ชื่อ “จิระนันท์ พิตรปรีชา”...

 

บ้านเกิด-เมืองเก่า 

ทะเลครวญ หวนคืน คลื่นความหลัง

ดอกศรีตรัง ม่วงลออ  ชูช่อใหม่

บนควนเขา เงาต้นยาง พร่างผลัดใบ  

โตนน้ำใหญ่ ไหลธารา มาเล่าเรียง      

 

ห้องแถวทอด ตลอดย่าน ร้านใหม่เก่า

ย้อนวัยเยาว์ ยามได้กลับ เมืองทับเที่ยง

แวะร้านชา ยังเปิดรอ ก็พอเพียง

รูปรสเสียง แห่งความหลัง ฟัง-ชิม-ชม

 

ท่องสถาน บ้านเมืองเก่า ที่เราเกิด

ฝันบรรเจิด มีเกิดดับ กับหวานขม

ภาพอดีต รอยซีดจาง กลางสายลม

ค่อยเบิกบ่ม ความรู้สึก ลึก-เร้น-นาน

 

หอนาฬิกา กลางสี่แยก ไม่แปลกเปลี่ยน

เพียงหมุนเวียน  เปลี่ยนผู้คน ที่พ้นผ่าน

สระกระพัง ยังรื่นรมย์ ชมอุทยาน

ยืนตระหง่าน อนุสาวรีย์ ที่ลือไกล  

 

หนึ่งร้อยปี นามประเทือง เมืองทับเที่ยง

ลำดับเรียง ทุกเบื้องบท ยิ่งสดใส

คือบ้านเกิด บ้านเก่า เราสุขใจ

คือเมืองใต้ เมืองตรัง ยังตรึงตรา    

 

หนึ่งร้อยปี มีมรดก ที่ตกหล่น

ให้สืบค้น ต้นตำนาน สานคุณค่า

หนึ่งร้อยปี  ที่รุ่งเรือง ตั้งเมืองมา

ให้คนตรัง ร่วมรักษา อย่าหลง-ลืม

 

จิระนันท์ พิตรปรีชา

กวีซีไรต์ 2532  

 

หมายเหตุ : เป็นกวีนิพนธ์ที่คุณจิระนันท์ประพันธ์ในโอกาส 100 ปีของการย้ายเมืองตรัง จากกันตัง มาทับเที่ยง ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก "100ปีเมืองทับเที่ยง" จำหน่ายโดยเทศบาลนครตรัง รายได้จากการจัดจำหน่ายทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อจัดตั้ง "กองทุนสวัสดิการเด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครตรัง" ผู้สนใจหาซื้อได้ที่สำนักงานเทศบาลนครตรัง โทร 0-75218-017 

 

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................