จาก "ทับเที่ยง" ถึง "ปีนัง" การเดินทางทวนเข็มนาฬิกา และ George Town Street Art

“เทคนิคการซุกซ่อน Item ของภาพวาดต่างๆไว้ให้เดินค้นหา ทำให้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเพื่อค้นหาและบันทึกภาพ ทุกคนต้องตั้งใจเดินค้นหาอย่างละเอียด มีการทำแผนที่รหัสสำหรับเดินค้นหา ตลอดสองข้างทางที่สองขาพาเดิน ผู้มาเยือนจึงได้ซึมซับทั้งบรรยากาศ ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของ "คนปีนัง" ขณะที่คนปีนังสามารถขายของ ไปจนเปิด Gallery นำเสนอเรื่องราวของตัวเองแก่ผู้มาเยือน ดังจะเห็น Gallery รวมถึงพิพิธภัณฑ์พื้นเมืองของหลากหลายตระกูล”

 

จาก "ทับเที่ยง" ถึง "ปีนัง" การเดินทางทวนเข็มนาฬิกา และ George Town Street Art

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

          จากจุดเริ่มต้นเล็กๆของกลุ่มสร้างสรรค์ ที่ต้องการเนรมิตรย่านตรอกซอกซอยในเมืองเก่าให้กลายเป็น "ถนนสายศิลปะ" ที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับ "เรื่องราว" "ความเป็นมา" และ "ตัวตน" Street Art ใน George Town ของ “เมืองปีนัง” มาเลเซีย จิ่งเริ่มเกิดขึ้น จากการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ตามตรอกจุดตัดถนน Lebuh Chulia , Lebuh Pantai เพื่อขอพื้นที่ผนังบ้าน กำแพง และพื้นที่ว่างมาแต่งแต้มด้วยงาน Painting เล่าเรื่องราวของชีวิตใน "ปีนัง" อย่างมีชั้นเชิง ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ใช้แรงกาย แรงใจ ความร่วมมือ ความเสียสละ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมอย่างมหาศาล

          Street Art แห่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก โดยเริ่มต้นจากโปรเจ็กต์ Mirrors George Town ในงาน George Town festival ในปี 2012 การทำกระจกสะท้อนตัวเองของคนปีนังครั้งนี้ ผลที่ได้รับกลับเกินความคาดหมาย เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปะในเมืองเก่าเมืองมรดกโลกแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูบ้านทุกตรอกซอกซอยให้ช่วยกันนำเสนอรากเหง้าความเป็นมาของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ

          เทคนิคการซุกซ่อน Item ภาพวาดต่างๆไว้ให้เดินค้นหา ทำให้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเพื่อค้นหาและบันทึกภาพ ทุกคนต้องตั้งใจเดินค้นหาอย่างละเอียด มีการทำแผนที่รหัสสำหรับเดินค้นหา ตลอดสองข้างทางที่สองขาพาเดิน ผู้มาเยือนจึงได้ซึมซับทั้งบรรยากาศ ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของ "คนปีนัง" ขณะที่คนปีนังสามารถขายของ ไปจนเปิด Gallery นำเสนอเรื่องราวของตัวเองแก่ผู้มาเยือน ดังจะเห็น Gallery รวมถึงพิพิธภัณฑ์พื้นเมืองของหลากหลายตระกูล

          หลายภาพนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของชีวิต โดยใช้เด็กเป็นสัญลักษณ์ ได้อย่างสวยงามและอ่อนโยน และผู้มาเยือนทุกคนสามารถท่องเที่ยวได้ด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยาน

          การเดินทางมา “ปีนัง” ครั้งนี้ของผม ส่วนหนึ่งเพราะได้ฟังคนรุ่นเก่าหลายคนทั้งในตรังและภูเก็ต เล่าถึง "ปีนัง"(ชื่อไทยเรียก) ของมาเลเซียเรียก George Town ว่า สมัยก่อนคนนิยมส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือที่ “ปีนัง” โดยเฉพาะที่โรงเรียน "หานเจียง" โรงเรียนไฮสคูลที่มีชื่อเสียงของปีนัง หรือแม้แต่ "โรงเรียนปินหัว" "โรงเรียนจุงหลิง" สำหรับระดับอุดมศึกษา ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยใน “ปีนัง” ที่ได้รับความนิยมสำหรับคนไทย อาทิ University Sains Malaysia หรือ USM

          ในยุคนั้นปีนังเป็นในเมืองที่สงบ ความเป็นอยู่เรียบง่าย รถราไม่มาก ในเมืองมีทั้งห้างร้านของคนจีน มัสยิด ปะปนกันอยู่อย่างแนบเนียน

          คนรุ่นเก่าๆส่งลูกหลานไปเรียนที่ "ปีนัง" เพราะต้องการให้เรียนภาษาจีน และการเดินทางไป "ปีนัง" ในสมัยก่อนสะดวกกว่าเดินทางไปกรุงเทพฯมาก .. และการเป็นนักเรียน "ปีนนัง" ก็ได้ทั้ง ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนฮกเกี้ยน รวมถึงภาษามาลายู ... ที่สำคัญคือใช้เงินไม่เยอะเท่าไปเรียนยุโรปหรืออเมริกา

          “ปีนัง” เป็นหนึ่งใน 13 รัฐของมาเลเซีย ในภาษามาเลย์จะเรียกว่า “ปูเลาปีนัง” (Pulau Penang) ซึ่งมาจากคำว่า “ปีนัง” ที่แปลว่า “ต้นหมาก” โดยในสมัยก่อนนั้นบนเกาะปีนังจะพบต้นหมากขึ้นอยู่มากมายนั่นเอง และหากพูดถึงรัฐปีนัง จะหมายรวมถึงพื้นที่บนเกาะปีนัง และ เซเบอรังเปอไร (Seberang Parai) บนแผ่นดินใหญ่

          เกาะปีนังถูกค้นพบโดย กัปตันฟรานซิส ไลท์ (Captain Fransis Light) ชาวอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ.1786 กัปตันไลท์ก็ได้รับมอบเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ ในนามของบริษัทอีสต์ อินเดีย คอมพานี ด้วยการทำสัญญาว่าจะปกป้องแผ่นดินนี้จากสยามประเทศ ซึ่งเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อเกาะเสียใหม่ว่า “Prince of Wales Island” เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเกิดของเจ้าชายแห่งเวลส์

          ต่อมาไม่นาน กัปตันไลท์ก็ได้ตั้ง “จอร์จทาวน์” (George Town) ขึ้นมา เพื่อให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ซึ่งก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้จอร์จทาวน์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเปิดสอนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนในสมัยนั้นคนไทยที่พอมีฐานะนิยมจะส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนังเพื่อให้ได้เรียนภาษาอังกฤษ

          ในปัจจุบัน ปีนังถูกกล่าวขานว่าเป็นไข่มุกแห่งตะวันออก เนื่องจากมีบ้านเมืองที่สวยงามและโรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของ “ปีนัง” โดยเฉพาะ George Town ที่เรียกกันว่า “ชิโนโปรตุกีส” หรือทางปีนังเรียก “บริติช โคโรเนียล สไตล์” หรือ “สถาปัตยกรรมจักรวัรรดินิยมอังกฤษ” และเป็นต้นแบบแผ่อิทธิพลมายังทั้ง “เมืองตรัง” โดยเฉพาะ “เมืองทับเที่ยง” โดยผู้ที่มีบทบาทในการนำพาและผสมผสานก็คือ “พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)” ผู้มีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน

           ดังนั้น “ทับเที่ยง” จึงมีความสัมพันธ์กับ “ปีนัง” ในครั้งอดีตจนปัจจุบันมากมาย ทั้งเครือญาติ การศึกษา การเดินทางไปทำงาน การค้าการขาย ศิลปะ สถาปัตยกรรม ไปจนเรื่องอาหารการกิน

          เชื่อไหมว่า "ปีนัง" มีถนนที่ชื่อ "Jalan Trang" หรือ "Trang Road" ด้วย

          ทั้งนี้ในปัจจุบัน “ปีนัง” ได้ก้าวข้ามไปอีกขั้น ไม่เฉพาะการได้ขึ้นทะเบียนเป็น “เมืองมรดกโลก” แต่ยังมีการนำ “ศิลปะ” เข้ามาผสมผสานกับงานด้านสถาปัตยกรรมอันทรงเสน่ห์เดิมได้อย่างสร้างสรรค์และลงตัว..

          ทีนี้มาเล่าเรื่องที่ขึ้นชื่อว่าอาหารการกิน จากการลองสำรวจ “เมืองปีนัง” มีเมนูคล้ายๆกับ “เมืองทับเที่ยง” ของเราหลายเมนู สำหรับประเทศมาเลเซียนั้นอาหารการกินจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อาหารจีน และ อาหารมาลายู เพราะทั้งสองเชื้อชาติต่างอยู่อาศัยผสมผสานเกื้อกูลกันมายาวนาน ที่ “ปีนัง” โดยเฉพาะ Georgetown มีร้านติ่มซำเยอะเหมือนกัน หน้าตาส่วนใหญ่ก็เหมือนบ้านเรา แต่รสชาติบางอย่างจะแตกต่างกันออกไป

          และไม่น่าเชื่อว่ามี "หมูย่าง" เหมือนกัน แต่ชอบของบ้านเรามากกว่า ของที่นี่รสจะออกเค็มนิดหน่อย

          นอกจากนี้ ที่นี่ยังมี “ปีนัง ลักซา” (Penang Laksa) ซึ่งเป็นลักซาสูตรเฉพาะของปีนัง ในชามจะประกอบด้วยเส้น ที่คล้ายกับเส้นขนมจีนแต่ใหญ่กว่า กินแล้วนุ่มๆ นิ่มๆ และมีน้ำแกงที่มีส่วนประกอบของเนื้อปลาทะเลเน้นๆ ผสมกับเครื่องแกงแล้วต้มเคี่ยวจนได้ที่ ยังมีผักที่ใส่รวมกันมาในชามเดียวนี้ ทั้งแตงกวา หอมใหญ่ พริกชี้ฟ้า ใบสะระแหน่ และยังมีน้ำพริกที่ปรุงเฉพาะตักใส่ไว้ด้านบนสุด เวลากินก็ให้คลุกเคล้าทุกอย่างเข้าด้วยกัน จากนั้นก็ลองชิมได้เลย รสชาติจะคล้ายๆ กับแกงส้มบ้านเราแต่ไม่เผ็ดไม่เปรี้ยว ได้รสชาติและเนื้อปลาแบบเต็มคำ มีความหอมชื่นใจจากสะระแหน่ กินแล้วอร่อยดีทีเดียว

          “ชาก๋วยเตี๋ยว” (Cha Koay Teow) หน้าตาคล้ายๆ กับผัดซีอิ๊วบ้านเรา แต่เส้นของที่นี่ลักษณะเหมือนเส้นเล็กที่ผัดมาเหนียวนุ่มกำลังดี ผัดใส่ซีอิ๊วดำ ซึ่งจะดำมากหรือน้อยก็ตามแต่ใจพ่อครัวแม่ครัวของแต่ละร้าน ใส่ไข่ กุ้งสด ปลาหมึก หอย ใส่ถั่วงอก และโรยหน้าด้วยต้นหอมเล็กน้อย ลองชิมรสชาติก็เหมือนผัดซีอิ๊ว มีความหอมมันกลมกล่อม

          “บะหมี่เกี๊ยว หรือ วันทันหมี่” (Wan Tan Mee) ซึ่งก็คือบะหมี่เกี๊ยวของบ้านเรา แต่เส้นบะหมี่ของที่นี่จะนุ่มแน่นกว่า และไม่เหนียวเหมือนบ้านเรา ใส่หมูแดง กวางตุ้งลวกสุก ปรุงรสด้วยซอสปรุงรสและซีอิ๊วดำ อาจจะใส่เกี๊ยวหมูต้มหรือทอดลงไปด้วย บางคนอาจจะสั่งเป็นเกี๊ยวน้ำแยกมาต่างหากก็ได้ แต่ที่นี่จะเสิร์ฟพร้อมกับพริกชี้ฟ้าดอง ลองชิมบะหมี่ก็คล้ายๆ กับบ้านเรา แต่จะแตกต่างตรงที่ใส่ซีอิ๊วดำเพิ่มลงไปด้วย กินคู่กับพริกชี้ฟ้าดองออกเปรี้ยวๆ หวานๆ เผ็ดๆ ตัดรสชาติกันดี ส่วนเกี๊ยวน้ำก็เป็นเกี๊ยวไส้หมูบดปรุงรสที่กลมกล่อม น้ำซุปหอมหวานซดแล้วชุ่มคอ

          สำหรับ “เมืองตรัง” ของเรา แม้รับอิทธิพลด้านอาหารการกินส่วนหนึ่งมาจากที่อื่นผ่านการอพยพของชาติพันธุ์ อาทิ ชาวจีนใน “ตรัง” หลักๆจะมี “จีนฮกเกี้ยน” “จีนกวางตุ้ง” “จีนแต่จิ๋ว “จีนแคะ” และย่อยๆอีกมาก “อาหารฮกเกี้ยน” กับ “อาหารกวางตุ้น” มีชื่อเสียง สำหรับอาหารเมืองตรัง สาย “จีนกวางตุ้ง” จะมี เกาหยุก หมูย่าง ส่วน “จีนฮกเกี้ยน” จะมี หมี่ฮกเกี้ยน เป็นต้น แต่ด้วยการที่ลงเรือมาลำเดียวกัน หรือมาใช้ชีวิตร่วมกัน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนผสมผสานด้านการกินกัน

          นอกจากนี้ ความมหัศจรรย์ คือ อาหารของชาวมุสลิม ส่วนใหญ่จะขึ้นมาจากมาเลเซีย มุสลิมเปอร์เซียในสมัยก่อนจะหาแผ่นดินใหม่ ผ่านทางการขึ้นเรือมาเพื่อหาแผ่นดินใหม่ เพื่อเผยแพร่ศาสนา ทำให้แถบอำเภอปะเหลียนจะมีมุสลิมเยอะ แล้วให้สังเกตุว่าตรังในชุมชนต่างๆ หรือแม้แต่ในอำเภอเมืองในปัจจุบันจะมีทุกชนชาติอยู่ร่วมกัน มีการแชร์กันโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวคือตัวอย่าง การกินน้ำชากับโรตี น้ำชามาจากชาวจีน โรตีมาจากชาวมุสลิม ผสมผสานกันแบบไม่รู้ตัว หรือการรับประทานน้ำชาจีนกับขนมเค้กของฝรั่ง

          การผสมผสานที่ว่านี้ได้กลายเป็นเรื่องใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ตรังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว...

          3 วัน 2 คืนใน "ปีนัง" ถือว่าคุ้มค่าสำหรับการได้เดินทางออกมาตามรอยประวัติศาสตร์และความเชื่อมโยง สำหรับ "เมืองตรัง" เมืองเล็กๆของเราก็มีเรื่องราวเพียงพอต่อการเล่าเรื่องได้ไม่อายใคร ... ไม่เชื่อลองทำดู เริ่มต้นที่ตัวเราเอง